สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของเทศบาลนครแม่สอด
ประวัติความเป็นมา
อำเภอแม่สอดเป็นอำเภออยู่ทางซีกตะวันตก (ของแม่น้ำปิง) ของจังหวัดตาก ประวัติความเป็นมามีหลักฐานว่าเมื่อประมาณ 120 ปีที่ล่วงมา (ประมาณปี พ.ศ. 2404 – 2405) บริเวณที่ตั้งอำเภอหรือชุมชนใหญ่ของอำเภอในปัจจุบันนี้ ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านพะหน่อแก” ต่อมามีคนไทยจากถิ่นอื่นหลายท้องที่ทางภาคเหนือ พากันอพยพลงมาทำมาหากินในบริเวณหมู่บ้านนี้เป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเจ้าของถิ่นฐานเดิมซึ่งไม่ชอบอยู่ปะปนกับชนเผ่าอื่นต้องพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น หมู่บ้านแห่งนี้ได้เจริญขึ้นตามลำดับ จนทางราชการได้ย้ายด่านเก็บภาษีอากรจากบ้านแม่ละเมา มาอยู่ที่หมู่บ้านพะหน่อแกแห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2441 ทางราชการจึงได้ยกฐานะหมู่บ้านขึ้นเป็นอำเภอ เรียกชื่อว่า “อำเภอแม่สอด” ให้อยู่ในเขตปกครองของมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค อำเภอ แม่สอดจึงได้เปลี่ยนมาขึ้นกับจังหวัดตาก
สำหรับความเป็นมาของชื่ออำเภอนั้น สันนิษฐานไว้เป็น 3 นัย ประการแรก กล่าวกันว่า อำเภอ แม่สอดเป็นเมืองเดียวกันกับ “เมืองฉอด” ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ตั้งประชิดชายแดนราชอาณาจักรสุโขทัย เมืองฉอดมีเจ้าเมืองชื่อพ่อขุนสามชนคำว่า เมืองฉอด เรียกกันนานเข้าอาจเพี้ยนกลายมาเป็น “แม่สอด”ก็เป็นได้ อีกนัยหนึ่งอำเภอแม่สอดอาจได้ชื่อมาจากชื่อของลำห้วยสายสำคัญที่ไหลผ่านหมู่บ้านนี้ คือ ลำห้วยแม่สอดส่วนอีกนัยหนึ่งแม่สอดอาจมาจากคำว่า “เหม่ช็อค” ในภาษามอญซึ่งแปลว่าพม่าตาย
อำเภอแม่สอดซึ่งอยู่ในเขตเทศบาล ตำบลแม่สอด ห่างจากแนวชายแดน 6 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ด้วยเป็นอำเภอชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าตลอดแนวชายแดนด้านตะวันตกซึ่งมีปัญหาทางด้านการปกครอง เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยภายในประเทศ และปัญหาเกี่ยวกับระบบการปกครองภายใน ทำให้บุคคลสัญชาติพม่าพลัดถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินในประเทศไทย เขตอำเภอแม่สอดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองและการควบคุม จนแม้ในปัจจุบันนี้ ทั้งอำเภอแม่สอดแต่เดิมนั้น เป็นเขตแทรกซึมและเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จนต้องมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงานรักษาความมั่นคงภายในอำเภอแม่สอด (ศอป. รมน. อ.แม่สอด) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณกำลังคนและอาวุธเป็นจำนวนไม่น้อย และในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อำเภอ ได้หยุดการเคลื่อนไหวโดยเด็ดขาดแล้ว ไม่ว่าทางด้านการเมืองหรือการทหารตั้งแต่ปลายปี 2542 เนื่องจากการดำเนินการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลได้ผลตามเป้าหมาย
การศึกษาและรวบรวมข้อมูลสภาพทั่วไป และข้อมูลพื้นฐานในเขตเทศบาลข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพปัญหาและพิจารณาถึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน อีกทั้งจะเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาได้ ตรงเป้าหมาย แก้ไขปัญหาได้ และพัฒนาได้ตรงตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
สภาพทั่วไปของเทศบาลนครแม่สอด
ความเป็นมาของเทศบาลนครแม่สอด
เทศบาลนครแม่สอด แต่เดิมเมื่อก่อนปีพุทธศักราช 2480 มีฐานะการปกครองท้องถิ่นโดยขึ้นอยู่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีที่ว่าการอำเภอ และมีหน่วยงานของแผนกการต่าง ๆ คือ แผนกมหาดไทย แผนกที่ดิน แผนกสัสดี แผนกคลัง แผนกศึกษาธิการอำเภอ แผนกสรรพสามิต แผนกสรรพากร แผนกอัยการ และมีหน่วยงานที่เป็นเอกเทศอีก คือ สถานีตำรวจภูธร ไปรษณีย์ ศาลจังหวัดแม่สอด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ป่าไม้ สหกรณ์ ด่านท่าออก และสถานีวิทยุอุตุนิยม ต่อมามีประชากรแน่นหนา มีจำนวนพลเมืองในท้องถิ่นสมัยนั้นประมาณ 12,000 คนเศษ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลตำบลเมื่อวันที่ 30 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2480 โดยอาณาเขตในสมัยนั้น มีเนื้อที่ 480 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนหมู่บ้าน 27 หมู่บ้าน ครั้นต่อมาโดยคณะเทศมนตรี และด้วยความเห็นชอบของอำเภอและจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าเขตเทศบาล กว้างขวางมากเกินไปไม่สามารถที่จะปกครองดูแลทำนุบำรุงได้ทั่วถึง จึงพิจารณาขอเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลให้เล็กลง เพื่อเหมาะสมกับกำลังเงิน รายได้ ของท้องถิ่นที่จะทำการปกครองดูแลและทำนุบำรุงท้องถิ่นได้ทั่วถึง จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล เสียใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช 2492 โดยได้ทำการตัดหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปจาก 27 หมู่บ้าน ซึ่งลดเขตพื้นที่การปกครองเป็น 27.2 ตารางกิโลเมตรและเมื่อวันที่ 9 เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2544 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลเมืองแม่สอด และเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยว่า เทศบาลเมืองแม่สอด มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คน ทั้งมีรายได้ควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2496 สมควรให้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาล "นครแม่สอด" ตามเจตนารมย์ของท้องถิ่น
อาณาเขต
เทศบาลนครแม่สอด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่สอด ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,986,116 ตรม. หรือประมาณ 1,325,625 ไร่ เป็นพื้นที่ของเทศบาล 27.2 ตร.กม. หรือประมาณ 17,000 ไร่
โดยมีระยะทางห่างจากตัวจังหวัด 87 กิโลเมตร และห่างจากรุงเทพฯ ประมาณ 509 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตอบต.แม่ปะ
ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตเทศบาลตำบลแม่ตาวและอบต.พระธาตุผาแดง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอบต.แม่ปะและอบต.พระธาตุผาแดง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตเทศบาลตำบลท่าสายลวด