ด้วยปริมาณขยะพลาสติกที่เยอะขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดปัญหาจากขยะพลาสติกจนดูเหมือนยากที่จะควบคุมได้ แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เรามาเรียนรู้ประเภทขยะพลาสติก แล้วแยกทิ้งให้ถูกเพื่อจะเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นของที่มีมูลค่ามากขึ้นกันดีกว่า
ขยะพลาสติก สิ่งที่เราคุ้นเคยกันมานาน จนอาจเห็นเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงแล้วขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพ ตลอดจนปัญหาที่เราอาจคาดไม่ถึงอีกนานัปการ ยิ่งหากเรายังไม่มีการควบคุมการใช้พลาสติก ขยะพลาสติกก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยากจะควบคุมอีกต่อไป และอาจก่อให้เกิดการกำจัดขยะพลาสติกอย่างไม่เหมาะสม เช่น การเผาทำลายที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือการฝังกลบ ที่อาจเป็นพิษต่อดิน น้ำ สัตว์บก และสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมไปถึงพืชผักทางการเกษตร ดังนั้นก่อนที่ขยะพลาสติกจะกลับมาทำร้ายชีวิตเรา เราก็ควรรู้จักประเภทของขยะพลาสติกให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ใช้แล้วแยกทิ้งได้อย่างถูกต้อง ต่อยอดด้วยการนำขยะพลาสติกกลับไปรีไซเคิลและลดปริมาณขยะพลาสติกไปพร้อมกัน
จริง ๆ แล้วพลาสติกอยู่รอบตัวเราและใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของเรามากเลยล่ะ ซึ่งนอกจากถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันแล้ว พลาสติกก็แทบจะอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นเลยก็ว่าได้ เพราะพลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำ มีคุณสมบัติเบา แข็งแรง คงทนต่อความร้อนได้ดี และเปลี่ยนรูปได้หลากหลาย ดังนั้นพลาสติกจึงถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในสินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเราจะพามาดูคร่าว ๆ ว่า ขยะพลาสติกที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรามาจากที่ไหนได้บ้าง
ของใช้ส่วนตัว : แปรงสีฟัน, หลอดยาสีฟัน, แชมพู, กระเป๋า, รองเท้า, ผ้าอนามัย เป็นต้น
บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร : ถุงพลาสติกใส่อาหาร, จานพลาสติก, ชามพลาสติก, ช้อนพลาสติก, ส้อมพลาสติก, หลอดดูดน้ำ, ขวดน้ำดื่ม, ขวดนม, กล่องใส่อาหาร, ถุงขนม เป็นต้น
ของใช้ภายในบ้าน : กล่องพลาสติกใส่ของ, พรม, ผืนผ้าใบ, ท่อ, รางน้ำ, เชือก, กาว เป็นต้น
เครื่องใช้ไฟฟ้า : อุปกรณ์โทรศัพท์-โทรสาร, เฟอร์นิเจอร์, ตู้เย็น, รีโมตเครื่องปรับอากาศ, รีโมตโทรทัศน์, กระติกน้ำร้อน เป็นต้น
เวชภัณฑ์ : ขวดยา, หลอดยา เป็นต้น
และนี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวบางส่วนของพลาสติกในโลกใบนี้เท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วพลาสติกยังแฝงอยู่ในของใช้อีกจิปาถะ และของใช้ที่มีส่วนประกอบจากพลาสติกเหล่านี้ ยิ่งใช้มาก ๆ เข้าถ้าถูกทิ้งมาก็จะกลายเป็นขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่พร้อมจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ทุกเมื่อ
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ เรื่องสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 พบว่า มีขยะเกิดขึ้นถึง 27.82 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีขยะพลาสติกสัดส่วนมากถึง 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็จะอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่นำกลับไปรีไซเคิลเพียง 500,000 ตัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของพลาสติกทั้งหมดเท่านั้น ส่วนอีก 1.5 ล้านตัน เป็นของเสียที่รอการกำจัด และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่น ๆ เป็นอย่างมาก และนี่คือบางส่วนที่เราอยากเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติก
► ย่อยสลายยาก
ขยะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่า 450 ปี ลองคิดภาพดูว่า ถ้าทุกคนใช้พลาสติกทุก ๆ วัน โลกของเราจะสะสมจำนวนพลาสติกไว้มากมายขนาดไหนกว่าจะย่อยสลายหมด
► ก่อให้เกิดสารปนเปื้อนในดิน
ในพลาสติกมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ เช่น สารพลาสติไซเซอร์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หากนำไปฝังดินก็อาจทำให้สารอันตรายที่แฝงอยู่ในพลาสติกปนเปื้อนไปในชั้นดิน ส่งผลกระทบไปสู่พืช-ผักและสัตว์บกที่หาสารอาหารจากดินก็อาจได้รับสารพิษดังกล่าวไปด้วย
► เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
ขยะพลาสติกเมื่อถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ ไหลลงทะเลและมหาสมุทร ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำในทะเลกินเข้าไป เพราะนึกว่าเป็นอาหาร
► สร้างมลพิษทางอากาศ
หากเผาพลาสติกก็จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่น่ากังวล เพราะจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อน และอาจจะก่อให้เกิดฝุ่นควัน เช่น ฝุ่นพิษ PM2.5 ตามมาด้วย
► ย้อนกลับมาทำร้ายคน
สุดท้าย ขยะพลาสติกก็กลับมาส่งผลกระทบและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคน โดยเฉพาะพลาสติกที่หมดอายุการใช้งาน จะถูกย่อยสลายเป็นสารเคมีที่แทรกซึมอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ซึ่งเราก็อาจบริโภคน้ำหรืออาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากพลาสติกเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด หรือเกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายได้
จะเห็นได้ว่า ขยะพลาสติก ถ้าทิ้งไม่ถูกที่ ใช้อย่างไม่ตระหนักถึงโทษของพลาสติก ก็จะเกิดอันตรายต่อโลก จนกระทบมาถึงชีวิตเราได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เริ่มต้นจากการแยกขยะพลาสติกให้เป็น จะได้นำขยะพลาสติกไปรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า ขยะพลาสติกประเภทไหนบ้างที่สามารถนำไปรีไซเคิลและเข้าสู่กระบวนการผลิตกลับมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ใหม่ได้ ซึ่งขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ถูกแบ่งเป็น 7 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1. โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE)
คุณสมบัติ : พลาสติกโพลีเมอร์ใส เนื้อเหนียว มีความทนทานต่อแรงกระแทก และมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุแอลกอฮอล์ เช่น ขวดน้ำดื่มและขวดน้ำมันพืช
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1
2. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE)
คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดนี้มีความหนาแน่นสูง ทำให้แข็งแรง แต่โปร่งแสงน้อยกว่าโพลีเอทิลีน ความหนาแน่นต่ำ ทนกรดและด่าง ทั้งยังป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดนม ขวดเครื่องสำอาง ถุงพลาสติก ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี เช่น ถังน้ำมันรถ
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2
3. โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร แต่ป้องกันไขมันได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตท่อน้ำประปา หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์การแพทย์
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 3
4. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกโปร่งแสง ที่มีปริมาตรสูง แต่ความหนาแน่นต่ำ
ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม ถุงใส่ของ และสายหุ้มทองแดง
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 4
5. โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก และความร้อนสูง
ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตฉนวนไฟฟ้า บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 5
6. โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส เปราะบาง แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่าง ๆ ได้ง่าย ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร
ประโยชน์ : นำมาผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาชนะ เช่น ถ้วย จาน และกล่องโฟม
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 6
7. พลาสติกอื่น ๆ (Other)
คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก เช่น โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) เป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 7
การลดจำนวนขยะพลาสติกแต่ละชนิด ถ้าผ่านการแยกขยะอย่างถูกต้องแล้ว จะถูกส่งไปที่โรงงานรีไซเคิล ผ่านการคัดกรอง ทำความสะอาด จากนั้นจะถูกนำไปหลอมและขึ้นรูปใหม่ แต่คุณภาพอาจจะด้อยลงกว่าเดิม เช่น
1. โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE) สามารถนำมารีไซเคิลกลับมาเป็นขวดเครื่องดื่ม ขวดน้ำยาซักผ้า ฟิล์มใส เป็นต้น
2. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) มักนำมารีไซเคิลฟิล์ม บรรจุภัณฑ์ ท่อ พาเลท ถังน้ำมัน กล่องขนาดใหญ่ เป็นต้น
3. โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) นำมารีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปา ข้อต่อ รองเท้า และกรวยจราจร เป็นต้น
4. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density polyethylene : LDPE) หากนำไปรีไซเคิลก็จะได้กระเป๋า น้ำยาประสานคอนกรีต ท่อ และแผ่นฟิล์ม เป็นต้น
5. โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP) เมื่อนำไปรีไซเคิลก็จะได้กล่อง กระถางต้นไม้ ถังหมัก และแผ่นกรุผนัง เป็นต้น
6. โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS) นำมารีไซเคิลเป็นไม้สังเคราะห์ กรอบรูป เครื่องใช้สำนักงาน ช้อน ไม้บรรทัด เป็นต้น
7. พลาสติกอื่น ๆ (Other) พลาสติกประเภทนี้สามารถนำไปผสมกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ แล้วรีไซเคิลเป็นท่อ นอต ล้อ พาเลท และเฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง เป็นต้น
ได้รู้กันแล้วว่า ขยะพลาสติกมีกี่ประเภท สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ ต่อจากนี้ก็หวังว่า เราทุกคนจะใช้พลาสติกกันอย่างรู้คุณค่า และทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกที่ เพื่อนำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านี้กลับไปรีไซเคิลใหม่เพื่อวนกลับมาใช้ได้ซ้ำ ๆ สร้างประโยชน์ได้ใหม่มากกว่าทำลายโลก และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องแยกขยะพลาสติกก่อนทิ้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
กรมควบคุมมลพิษ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ขอขอบคุณที่มา : https://erc.kapook.com/article09.php
สาระน่ารู้ 相關的其他人