ทำความรู้จัก “Eco Product” หรือ “ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” พร้อมส่องตัวอย่างแบรนด์ดังที่ผลิตสินค้ามาจากขยะรีไซเคิลและวัสดุยั่งยืน ที่ช่วยลดขยะและลดโลกร้อนตั้งแต่ต้นทาง
ECO Product คืออะไร มีที่มาอย่างไร
✓ Reduce : การลดการใช้
✓ Reuse : การใช้ซ้ำ
✓ Recycle : การนำกลับมาใช้ใหม่
✓ Repair : การซ่อมบำรุง
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์สีเขียว มีที่มาที่ไปจากปัญหาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและหันมารักษ์โลกกันมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนรับผิดชอบทางสังคม ด้วยการผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาเพิ่มมากขึ้น
ECO Product มีความสำคัญอย่างไร
1. นันยาง : คอลเล็กชั่น KHYA
นอกจากขยะพลาสติกแล้ว รองเท้าถือเป็นขยะทางทะเลที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ฉะนั้น นันยาง แบรนด์รองเท้าชื่อดังของไทย จึงร่วมมือกับทะเลจรและพันธมิตร เพื่อช่วยกันเปลี่ยนขยะรองเท้าเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “รองเท้า KHYA (ขยะ)” ซึ่งกระบวนการผลิตเริ่มต้นที่กลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero เดินทางไปเก็บและแยกขยะบริเวณริมทะเล พร้อมส่งต่อขยะที่เป็นรองเท้าให้กับกลุ่มทะเลจรเพื่อเตรียมวัตถุดิบ จากนั้นก็ส่งมาให้กับนันยาง เพื่อทำการแปรรูปเป็นรองเท้าแตะที่มีคุณภาพ และนำไปจัดจำหน่ายต่อไป โดยรองเท้าที่ได้จากการรีไซเคิล 1 คู่ มาจากขยะรองเท้า 5 กิโลกรัม ฉะนั้นก็เท่ากับว่ารองเท้าที่ได้จากการรีไซเคิล 200 คู่ สามารถลดขยะทางทะเลลงได้ถึง 1 ตัน
2. Levi’s : คอลเล็กชั่น Levi’s® Waste‹Less™
แบรนด์กางเกงยีนส์ชื่อดังอย่าง Levi’s ก็ร่วมผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาใจคนที่ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเช่นกัน กับคอลเล็กชั่นที่ชื่อว่า Levi’s® Waste‹Less™ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการมองหาวัตถุดิบอื่นมาผลิตยีนส์แทนฝ้าย (Cotton) เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ประจวบเหมาะกับเทรนด์รักษ์โลกกำลังมาพอดี จึงทำให้มีการเลือกนำขวดพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นกางเกงยีนส์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3-8 ขวด ต่อยีนส์ 1 ตัว ซึ่งตั้งแต่เริ่มคอลเล็กชั่นนี้ในปี ค.ศ. 2013 Levi’s ได้นำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาแปรรูปรวมแล้วกว่า 11.9 ล้านขวด
3. IKEA : คอลเล็กชั่น คุงส์บัคก้า
IKEA ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ดังที่ต้องการลดปริมาณขยะและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยมีคอลเล็กชั่นชื่อว่า คุงส์บัคก้า (Kungsbacka) ซึ่งเป็นบานตู้ครัวที่ผลิตมาจากเศษไม้และขวดพลาสติกรีไซเคิล โดยนำขวดพลาสติก PETE ไปรีไซเคิลเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติก จากนั้นก็นำเศษไม้ไปทำแผ่นพาร์ติเกิลบอร์ด เสร็จแล้วนำแผ่นฟิล์มพลาสติกมาพันให้รอบแผ่นพาร์ติเกิลบอร์ด แล้วส่งไปเคลือบให้สวยงามเรียบร้อย เท่านี้ก็จะได้เป็นบานตู้ครัวที่เก๋ รักษ์โลก แถมมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 25 ปี อีกด้วย โดยบานตู้ครัวคุงส์บัคก้า 1 บาน ทำมาจากขวดพลาสติกครึ่งลิตร ประมาณ 25 ขวด อีกทั้งยังสามารถนำบานตู้ครัวคุงส์บัคก้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมารีไซเคิลใหม่อีกครั้งได้ด้วย
4. Adidas : คอลเล็กชั่น Futurecraft.loop
เพื่อช่วยลดการสร้างพลาสติกในอนาคต Adidas ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่กับคอลเล็กชั่น Futurecraft.loop ซึ่งถือเป็นรองเท้าที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 100% คู่แรกของโลก โดยเทคนิคสำคัญ คือ รองเท้ารุ่นแรกของคอลเล็กชั่นนี้ผลิตมาจากเทอร์โมพลาสติกยูรีเทน (ทีพียู) ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด จากนั้นก็ส่งให้เหล่านักกีฬาทดลองใช้และส่งคืนเมื่อรองเท้าเสื่อมสภาพ เพื่อนำมาผลิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่ต่อไป โดยผ่านขั้นตอนการรีไซเคิล คือ นำรองเท้าไปล้างทำความสะอาด แล้วบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ พร้อมนำไปหลอมเป็นเม็ด จากนั้นก็ขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้า ถักทอเป็นอัปเปอร์รองเท้า เสร็จแล้วก็นำมาหล่อและประกอบเข้าด้วยกันอีกครั้ง เท่านี้ก็ได้เป็นรองเท้าคู่ใหม่จากวัสดุเดิม แต่ประสิทธิภาพไม่ลดลง แถมช่วยลดปริมาณขยะและพลาสติกไปได้ในตัวด้วย
5. H&M : คอลเล็กชั่น Conscious
บอกเลยว่าคอลเล็กชั่น Conscious จาก H&M ต้องทำให้ผู้ใส่ทั้งดูดีและรู้สึกดีแน่นอน เพราะทางแบรนด์ผลิตสินค้าทุกชิ้นด้วยความใส่ใจและคำนึงถึงผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยทำมาจากวัสดุที่เป็นธรรมชาติและยั่งยืน เช่น ฝ้ายออร์แกนิก (Organic Cotton) ฝ้ายรีไซเคิล (Recycled Cotton) และเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิล (Recycled Polyester) อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่เสื้อถัก เสื้อยืด เสื้อเดนิม ไปจนถึงชุดชั้นใน ซึ่งสามารถหาซื้อได้โดยสังเกตป้ายแขวนสีเขียวที่มีข้อความว่า “Conscious” นอกเหนือจากนี้ H&M ก็ยังมุ่งมั่นและตั้งใจจะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ที่ใช้แต่วัสดุที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ. 2573 (หรือ ค.ศ. 2030)
6. Gumdrop : คอลเล็กชั่น Gumshoe
หมากฝรั่งถือเป็นปัญหาขยะอันดับต้น ๆ ของประเทศเนเธอร์แลนด์ จากการสำรวจพบว่า มีหมากฝรั่งถูกคายทิ้งบนถนนในประเทศกว่า 1.5 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณขยะที่พบมากเป็นอันดับสอง รองจากก้นบุหรี่ ที่สำคัญหมากฝรั่งพวกนี้ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 20-25 ปี อีกทั้งยังทำความสะอาดยาก บริษัท Gumdrop จึงตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหา ด้วยการตระเวนเก็บเศษหมากฝรั่งบนท้องถนนทั่วเมืองอัมสเตอร์ดัม แล้วนำมารีไซเคิลทำเป็นพื้นรองเท้าภายใต้คอลเล็กชั่น Gumshoe จากนั้นก็วางจำหน่ายโดยมีทั้งหมด 2 สี ได้แก่ ชมพูและดำ จนเรียกได้ว่าเป็นรองเท้าที่ทำมาจากหมากฝรั่งรีไซเคิลเซตแรกของโลก ซึ่งตอนนี้คอลเล็กชั่นแรกก็จำหน่ายหมดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงวางแผนจะผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
7. Urban Outfitters : คอลเล็กชั่น Urban Renewal
Urban Outfitters ก็มีคอลเล็กชั่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน โดยใช้ชื่อว่า Urban Renewal เป็นการเสาะหาและคัดเลือกวัสดุเก่าเก็บ เหลือใช้ หรือถูกทิ้งจากทั่วทุกมุมโลก แล้วนำมาทำความสะอาดพร้อมออกแบบและประดิษฐ์ใหม่ให้กลายเป็นสินค้าสไตล์ของตัวเอง จึงถือเป็นสินค้าที่ให้ทั้งความสวยงามและความรักษ์โลก โดยจะผลิตออกใหม่ทุกสัปดาห์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- Remnants คือ การนำผ้าเก่ามาออกแบบใหม่
- One Of A Kind คือ การออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์และมีชิ้นเดียวในโลก
- Vintage คือ การออกแบบที่มีต้นกำเนิดและดีไซน์เป็นของแบรนด์เอง
- Recycled คือ การนำผ้าที่ใช้แล้วมาปรับแต่งใหม่ให้เหมาะสม
โดยจะให้อารมณ์เหมือนของเก่าแต่ก็เหมาะกับยุคสมัย
8. Everlane : คอลเล็กชั่น The ReNew Collection
อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่มีชื่อเสียงเรื่องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ Everlane เพราะมีการประกาศเจตนารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนว่า จะเลิกผลิตพลาสติกใหม่ภายในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) โดยเริ่มต้นด้วยโปรเจกต์แรก คือ The ReNew Collection ที่เป็นการต่ออายุการใช้งานขวดพลาสติกรีไซเคิล ผ่านการนำก้อนขยะขวดพลาสติกมาคัดแยกพร้อมล้างทำความสะอาด จากนั้นก็ส่งไปบดเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก หลอมกับแม่พิมพ์ ตามด้วยหั่นเป็นเศษผลึก แล้วส่งไปหลอมและอัดรวมกันใหม่อย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะปั่นเข้าไปในเส้นด้ายและนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าต่าง ๆ ที่ทั้งสวยงาม อบอุ่น และรักษ์โลก ต้องบอกเลยว่าคอลเล็กชั่นใหม่ที่ว่านี้สามารถลดขยะขวดพลาสติกลงไปได้กว่า 3 ล้านขวดเลยทีเดียว
9. Coca Cola : คอลเล็กชั่น ขวดรีไซเคิลจากขยะพลาสติก
แบรนด์เครื่องดื่มชื่อดังอย่าง Coca Cola ก็มีส่วนร่วมผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน เพราะล่าสุดเพิ่งเปิดตัวขวดเครื่องดื่มรีไซเคิลที่ผลิตมาจากขยะพลาสติกทางทะเล ซึ่งถือเป็นการนำขยะขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่มครั้งแรกของโลก พร้อมทั้งยังติดฉลากสีเขียวให้เห็นเด่นชัดด้วย โดยตอนนี้ทำออกมาทั้งหมด 300 ขวด เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น ยังไม่ได้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยกระบวนการหลัก ๆ เริ่มต้นจากการเก็บขยะขวดพลาสติกมาจากชายหาดและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นก็นำไปแปรรูปเป็นขวดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีนวัตกรรมแยกส่วนประกอบของพลาสติก รวมถึงแยกสิ่งสกปรกออกจากพลาสติกคุณภาพต่ำได้ ช่วยให้ขยะพลาสติกหลายประเภทที่เคยนำไปกลบหรือเผา สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ ทำให้ลดปริมาณการสร้างพลาสติกใหม่ไปในตัวด้วยนั่นเอง
10. ร้านอัจฉราไข่วิจิตร : กล่องกระดาษทิชชู À La Mode Egg Shell by Atchara
ร้านอัจฉราไข่วิจิตร แบรนด์ไทยที่นำเปลือกไข่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ กับคอลเล็กชั่นที่นำกระดาษจั่วปัง (กระดาษแข็งสีเทา) ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิล แถมนำไปแปรรูปใหม่หรือย่อยสลายทางชีวภาพได้ มาตัดตกแต่งและประกอบเป็นกล่องทิชชู จากนั้นระบายสีน้ำ แล้วนำเปลือกไข่ที่ตัดให้มีขนาดเล็กทากาวและติดลงไปบนกล่อง โดยสินค้าทำมือทุกชิ้น จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากศิลปะสมัยใหม่ของฝรั่งเศสและโมเสสของบาร์เซโลน่า จุดเด่นอยู่ที่การนำเปลือกไข่ที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า เป็นการใช้วัสดุหมุนเวียน ช่วยลดปริมาณขยะ อีกทั้งยังรีไซเคิลได้ ย่อยสลายง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ที่สำคัญกล่องกระดาษทิชชูคอลเล็กชั่นนี้สามารถปรับแต่งดีไซน์ได้อยู่ตลอด แข็งแรง สวยงาม ทนทาน จะนำไปเป็นของขวัญก็ได้ จะใช้งานจริงก็ดี จะตกแต่งบ้านก็เด่น เรียกได้ว่าเป็นไอเทมรักษ์โลกจากคนไทยที่น่าสนใจไม่เบาเลยทีเดียว
11. บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด : กระเบื้องยางชนิดเคลือบฟิล์ม
นอกจากข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้ว วงการวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมก็มีสินค้า ECO เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กระเบื้องยางชนิดเคลือบฟิล์ม (Dynoflex Future Design รุ่น Heterogeneous) จากบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม ภายใต้แนวคิดอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยผลิตวัสดุตกแต่งพื้นลวดลายใกล้เคียงวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน ทราย ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าเจ้าของบ้านและสถาปนิก ทว่ามีความรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปในตัว เพราะทำมาจาก PVC Recycle เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ช่วยลดการใช้ทรัพยากร และนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้ 100% ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้พลังงานในการผลิตอย่างเหมาะสม ไม่มีสารก่อมะเร็ง แตกต่างจากวัสดุตกแต่งพื้นหลายชนิด ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้พลังงานในการผลิตและขนส่งสูงด้วย ส่วนเรื่องการใช้งานก็ไม่ต้องห่วง สามารถติดได้ทั้งพื้นไม้ พื้นปาเก้ พื้นคอนกรีต และพื้นเซรามิก ที่สำคัญแข็งแรง ทนทาน มีอายุการใช้งานถึง 5 ปี
12. บริษัท ดีดี เนเจอร์คราฟท์ จำกัด : กระเป๋าใยกัญชง
แน่นอนว่าแวดวงแฟชั่นไทยก็มีสินค้า ECO ด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญเข้ากับกระแสการลดใช้ถุงพลาสติกสุด ๆ เพราะ บริษัท ดีดี เนเจอร์คราฟท์ จำกัด ผลิตกระเป๋าใยกัญชง ที่มีไฮไลต์เด็ดอยู่ที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทำมาจากเส้นใยกัญชง ซึ่งเป็นเส้นใยปราศจากสารเคมี (Organic Fiber) ที่กำลังได้รับความนิยมมาก เพราะมีความทนทานมากกว่าฝ้าย แถมยังใช้สารกำจัดแมลง ปุ๋ย และน้ำน้อยกว่า ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าหากฝนตกตามฤดูกาลก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย อีกทั้งยังประหยัดไฟ ใช้เวลาเย็บใบละ 5 นาที โดยสินค้ามีทั้งกระเป๋าถือและกระเป๋าสะพาย สามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และมีอีกหนึ่งจุดเด่น คือ การออกแบบให้มีอายุการใช้งานยาวนาน สะท้อนน้ำ ต้านไฟ ป้องกันยูวี ระบายความชื้นดี และไม่มีกลิ่นอับ แถมยังสวยงาม สร้างสรรค์ คำนึงถึงลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย และน้ำหนักมวลรวมของสิ่งของในกระเป๋าด้วย
13. บริษัท เดอะโคลเวอร์ จำกัด : รองเท้ารักษ์โลก เพื่อสุขภาพ (Snowflakes) รุ่น Eco Surface
รองเท้ารักษ์โลก เพื่อสุขภาพ (Snowflakes) รุ่น Eco Surface จาก บริษัท เดอะโคลเวอร์ จำกัด เป็นรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายของผู้สวมใส่โดยเฉพาะ รูปทรงกระชับ ช่วยให้ทรงตัวดี ด้านหน้ากว้างมาพร้อมแผ่นเสริม ช่วยให้ไม่บีบเท้า ลดการเสียดสี และป้องกันของมีคม แถมมีซับฟองน้ำและแผ่นยางพาราแท้ ช่วยให้นุ่มสบายเท้า กระจายน้ำหนัก เดินแล้วไม่เมื่อย รวมถึงยึดเกาะและยืดหยุ่นดี ควบคุมการเดิน วิ่ง หยุดได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง ทว่าที่สำคัญและน่าสนใจที่สุด คือ เป็นสินค้าที่ช่วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนให้คนใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เนื่องจากคอลเล็กชั่นนี้ผลิตมาจากเศษผ้า เศษยาง ถือเป็นการใช้วัสดุหมุนเวียนและใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างคุ้มค่า เป็นการนำของเหลือใช้มาแปรสภาพเป็นชิ้นงานใหม่ อีกทั้งเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วก็ยังย่อยสลายได้ด้วย
14. หจก. ฟางไทย แฟคทอรี่ : กระดาษฟางข้าวอินทรีย์
เมื่อ หจก. ฟางไทย แฟคทอรี่ นำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอย่าง ฟางข้าว มาแปรสภาพผ่านกรรมวิธี Green Process ด้วยการแช่และปั่นเยื่อฟาง จากนั้นก็นำไปขึ้นเป็นกระดาษ ตากแดด แกะเฟรม ใช้มือรีด และตัดขอบ ก็เลยได้ออกมาเป็นกระดาษฟางข้าวอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการใช้วัสดุหมุนเวียน ไม่มีสารเคมีทั้งในวัตถุดิบและการผลิต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเผาฟางข้าวของเกษตรกรด้วย โดยกระดาษฟางข้าวอินทรีย์คอลเล็กชั่นนี้มีลวดลายเป็นธรรมชาติและเป็นเอกลักษณ์ เนื้อเหนียวแน่น รองรับน้ำหนักได้ดี ดูดซึมน้ำหมึกได้เด่น ทำให้พิมพ์งานอาร์ตในเครื่องอิงค์เจ็ทได้ แถมปรับเปลี่ยนผิวสัมผัสได้ตามความต้องการด้วย บอกเลยจะเขียนหรือจะวาดก็เหมาะ การใช้งานก็ไม่แตกต่างจากกระดาษทั่วไป
15. บริษัท ทักทายกัน จำกัด : ผ้าทอจากเส้นใยไผ่
อีกหนึ่งสินค้าไทยที่มีการใช้วัสดุหมุนเวียน ได้แก่ ผ้าทอจากเส้นใยไผ่ จากบริษัท ทักทายกัน จำกัด โดยเป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ไผ่และฝ้าย มาผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ คือ ทำให้เป็นเส้นด้ายด้วยการใช้ไอน้ำตี จากนั้นก็นำไปปั่นแล้วทอด้วยมืออย่างประณีต พร้อมทั้งย้อมสีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี จนถือได้ว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน ซึ่งนอกเหนือจากจะรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว คอลเล็กชั่นนี้ยังตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีอีกต่างหาก เนื่องจากเนื้อผ้าสวยงาม นุ่มนิ่ม แถมยังไม่ทำให้ระคายเคืองผิวนั่นเอง
ต้องยอมรับเลยว่า Eco Product เป็นอีกหนึ่งทางเลือกรักษ์โลกที่น่าสนใจ โดยทั้ง 15 แบรนด์นี้ก็เป็นตัวอย่างของการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันก็มีอีกหลายแบรนด์ที่เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคงจะดียิ่งกว่าหากผู้บริโภคก็หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตร และเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อช่วยกันลดขยะ ลดโลกร้อน และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ขอขอบคุณที่มา : https://erc.kapook.com/article13.php
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง