การประชุม COP26 ผู้นำเกือบ 200 ประเทศ ได้ร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขและรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเทศไทยซึ่งนำโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ไปประกาศเจตนารมย์ว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือเรียกสั้นๆ ว่า Net Zero Carbon) ภายในหรือก่อนกว่าปี ค.ศ. 2065 ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
คำถามที่ตามมา คือ คนไทยจะมีส่วนร่วมเพื่อการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง แต่ก่อนอื่นเราน่าจะ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่น ที่บ้านหรือที่อาคารของเรา ก็สามารถทำให้เป็น Net Zero Carbon ได้เช่นกัน ดูเหมือนว่าจะทำได้ง่ายและมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าด้วย
การนำแนวคิด Net Zero Carbon มาใช้ในการออกแบบอาคารให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีมาก่อนหน้านี้ ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานซี่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสัดส่วนหลัก โดยเจ้าของอาคารจะออกแบบอาคารให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงาน ประหยัดพลังงานในระบบต่าง ๆ และมีการผลิตพลังงานเองได้เท่ากับหรือมากกว่าพลังงานที่ใช้ ในขณะที่ผู้ใช้งานอาคารยังคงได้รับความสะดวกสบาย โดยเรียกอาคารเหล่านี้ว่า Zero Energy Building หรือ อาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์
มีตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศ ที่อาคารได้รับการก่อสร้างและใช้งานจริง เช่น Centre for Sustainable Energy Technology (CSET) อาคารคาร์บอนเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศจีน Zero Energy Building (ZEB) ศูนย์รวมเทคโนโลยีอาคารเขียว ประเทศสิงคโปร์ Net Zero Energy Building อาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้อาคารเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารนั้น ได้มีการรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร (Carbon Reduction Certification for Buildings) หรือ “อาคารลดคาร์บอน” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของอาคารและผู้ใช้งานอาคารได้มีส่วนร่วมในการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการออกแบบอาคาร การใช้งานอาคาร และการบำรุงรักษาอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ
การเกิดขยะที่ต้องกำจัดน้อยลงจากระบบจัดการขยะและการมีส่วนร่วมของผู้ที่อยู่ในอาคาร การมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่ดี สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของอาคารน้อยกว่า รวมถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon ของประเทศเรา
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง