“ขยะ” หรือ สิ่งของเหลือใช้จากชีวิตประจำวันที่รอการกำจัด นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกันมานาน และกําลังเป็นวิกฤตในตอนนี้ ทั้งปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี การทิ้งและแยกขยะที่ไม่ถูกต้องจนไม่สามารถนําขยะกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้เท่าที่ควร และทำให้การกำจัดขยะอย่างถูกต้องเกิดประสิทธิภาพน้อยลงตามไปด้วย สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ หลายคนอาจจะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว แต่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ควบคุมยาก และจัดการลำบาก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และการคัดแยกขยะจากครัวเรือนก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และขยะจะไม่กลายเป็นขยะที่ไร้ค่าหากเราจัดการอย่างถูกวิธี และนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้
สำหรับขยะที่มาจากโรงจอดรถส่วนใหญ่ ได้แก่ ซากรถยนต์ อะไหล่รถ ทั้งแผ่นคลัตช์ ลูกปืน ยางใน ยางนอก น้ำมันเบรกเก่า น้ำมันเครื่องเก่า แกลลอนน้ำมัน และแบตเตอร์รีรถเก่า อันเป็นของใช้ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน
ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
จากเดิมที่ใช้ถุงพลาสติกและใช้ได้ไม่กี่ครั้ง ให้เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าที่สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องซื้อใหม่หลาย ๆ ครั้งก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้อีกทางหนึ่ง และตอนนี้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งมีนโยบายให้แต้มเพิ่มกับผู้ที่นำถุงผ้าไปช้อปปิ้ง เพื่อสนับสนุนลดใช้พลาสติก
ใช้แก้วส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก
ประโยชน์การใช้แก้วส่วนตัว นอกจากจะนำมาใช้ซ้ำและช่วยลดการเกิดขยะ เช่น แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้แล้ว บางร้านยังมีส่วนลดให้สำหรับคนที่นำแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มอีกด้วย
ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม (Refill)
การใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติมช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่าปกติ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมทำให้เกิดขยะพลาสติกน้อยกว่า เช่น น้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาปรับผ้านุ่มแบบถุงเติม
ใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม
แทนที่จะใช้กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกในการใส่อาหาร ให้เปลี่ยนมาใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโต ก็จะช่วยลดปริมาณโฟมและพลาสติกที่ย่อยสลายยากลงไปได้มาก ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านอาหารหลายแห่งที่ให้ความสนใจและช่วยสนับสนุน เช่น ให้ส่วนลดกับผู้ที่นำกล่องข้าวไปใส่อาหาร
รียูสวัสดุเหลือใช้ในบ้าน
การนำสิ่งของต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นสิ่งประดิษฐ์ง่าย ๆ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในน้อยลงแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ใช้กระดาษให้ครบ 2 หน้า
การใช้กระดาษให้ครบทั้งสองหน้าถือเป็นการใช้ซ้ำได้อย่างคุ้มค่า ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำมาทำเป็นกระดาษหน้าที่สาม ด้วยการพิมพ์อักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตาได้อีกด้วย
ใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จใหม่ได้
การใช้ถ่านที่นำมาชาร์จใหม่ได้ แทนถ่านที่ใช้แล้วทิ้งแบบทั่วไป เป็นการลดปริมาณขยะอันตรายให้น้อยลง แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋าไปในตัว
บริจาคเสื้อผ้า
การบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับผู้ที่ต้องการ ถือเป็นการลดปริมาณขยะ ทำให้บ้านเป็นระเบียบ แถมยังได้บุญอีกด้วย
การนำกระป๋องมาหลอมเป็นขาเทียม
แทนที่จะโยนกระป๋องอะลูมิเนียมทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นขาเทียมให้กับผู้พิการได้
นำกล่องเครื่องดื่มมาทำตะกร้า
กล่องเครื่องดื่มประเภทกล่อง UHT เช่น กล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นตะกร้าเอาไว้ใช้งานได้
นำกระดาษมาทำกล่องทิชชู
กระดาษสีหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ สามารถนำมาแปรรูป เพื่อประดิษฐ์เป็นกล่องทิชชูเอาไว้ใช้งานและสร้างรายได้อีกช่องทาง
นำขวดพลาสติกใสมาแปรรูปเป็นเสื้อ
แทนที่จะทิ้งขวดน้ำพลาสติก (PET) ก็สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเสื้อใหม่ได้
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ขอขอบคุณที่มา : https://erc.kapook.com/article03.php
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง