5 ชุมชนตัวอย่างสุดยอดนักกำจัดขยะ ทำได้แบบนี้ทุกที่ก็เยี่ยมเลย
รวมชุมชนตัวอย่างเกี่ยวกับการกำจัดขยะ พร้อมข้อมูล รายละเอียด และแนวทางของแต่ละที่ บอกเลยนี่แหละสุดยอดต้นแบบแห่งการจัดการขยะที่แท้จริง !
ไม่น่าเชื่อว่าในระยะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนขยะเฉลี่ยถึงปีละ 20 กว่าล้านตัน แต่กลับมีจำนวนขยะที่ถูกนำกลับไปใช้และกำจัดอย่างถูกต้องไม่เท่ากับจำนวนทั้งหมด จนกลายเป็นปัญหาขยะตกค้างและผลกระทบในหลาย ๆ ด้านทั้งสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์ ตามมาเป็นห่วงโซ่ ซึ่งแหล่งกำเนิดขยะและแหล่งที่ขยะตกค้างอยู่ส่วนใหญ่ก็คือมาจากบ้านเรือนและชุมชน ฉะนั้นตอนนี้หลาย ๆ แห่งจึงเริ่มตระหนักและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยตัวเองกันมากขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนกลับมาสะอาดและน่าอยู่อีกครั้ง ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ไปในตัว ว่าแต่จะมีที่ไหนได้รับการยกย่องว่าเป็นชุมชนต้นแบบเกี่ยวกับจัดการขยะบ้าง แล้วพวกเขาทำอย่างไร เห็นผลมากน้อยแค่ไหน ตามมาดูกันดีกว่า ทว่าก่อนจะไปทำความรู้จักกับพวกเขา เรามาทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของขยะชุมชนในปีที่ผ่านมากันสักนิดก่อนค่ะ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ขยะ" เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เพราะจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษมีการรายงานว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในปี 2561 มีจำนวนมากถึง 27.93 ล้านตัน หรือประมาณ 76,529 ตันต่อวัน นับว่าเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ที่มีจำนวน 27.37 ล้านตันอยู่พอสมควร ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น มีการขยับขยายชุมชนเพิ่มขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพิ่มขึ้น และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จนทำให้ตลอดปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยโดยเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
นอกจากนี้แม้ข้อมูลดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ก็เพิ่มมากขึ้นประมาณ 35% หรือราว 9.76 ล้านตันของขยะทั้งหมด เป็นจำนวนที่สูงกว่าปี 2560 ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพียง 31% หรือราว 8.51 ล้านตันเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขยะชุมชนได้ทั้งหมด
อีกทั้งการนำขยะไปกำจัดอย่างถูกต้องกลับมีแนวโน้มลดลง โดยพบว่ามีขยะอีกประมาณ 26% หรือราว 7.32 ล้านตันของขยะทั้งหมดถูกนำไปกำจัดแบบผิด ๆ เช่น เผากลางแจ้ง เผาในเตาไม่มีคุณภาพ เทกองรวมกัน หรือแอบทิ้งในพื้นที่ต้องห้าม จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งหาทางกระตุ้นการจัดการขยะชุมชนให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมานั่นเอง
จากสถานการณ์ของขยะมูลฝอยชุมชนที่แสดงให้เห็นว่า จำนวนการผลิตขยะและการจัดเก็บขยะสวนทางกัน จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับขยะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่าขยะสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนได้อีกด้วย ดังนี้
► เป็นแหล่งพาหะนำโรค : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนถือเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และแหล่งซุกซ่อนชั้นดีของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู ยุง แมลงวัน และแมลงสาบ ซึ่งนอกจากจะส่งผลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อสุขอนามัยตามมาด้วย
► ทำลายทัศนียภาพ : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนทำให้เกิดความสกปรก ความไม่สวยงาม และเกิดเป็นภาพที่ไม่น่ามอง
► ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน ก่อให้เกิดความรำคาญใจ และอาจจะบั่นทอนสุขภาพของคนในชุมชนได้
► ทำให้อากาศเสีย : ขยะมูลฝอยที่ถูกเทกองข้างทางนั้นอาจจะปลิวไปในอากาศ ทำให้เกิดความสกปรกและส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ ยิ่งไปกว่านั้นการเผาขยะมูลฝอยบนที่กลางแจ้ง ยังทำให้เกิดควัน ขี้เถ้า และมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย
► ทำให้ดินเสีย : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นดินในชุมชนยังทำให้ดินเสีย เพราะมีสารพิษและน้ำชะขยะปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนสภาพความเป็นกรด-ด่างรวมไปถึงลักษณะทางกายภาพของดินได้อีกด้วย
► ทำให้น้ำเสีย : ขยะมูลฝอยที่ถูกทิ้งในแม่น้ำ รวมถึงขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนจนไหลลงไปสู่แม่น้ำเมื่อฝนตก ทำให้แหล่งน้ำสกปรก เน่าเสีย และมีสารพิษเจือปน จนส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อีกทั้งยังยุ่งยากต่อการนำปรับปรุงเพื่อบริโภค และเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน
► ทำให้เกิดไฟไหม้ : กองขยะมูลฝอยที่หมักหมมในชุมชนเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดก๊าซชีวภาพและติดไฟง่ายขึ้นอีกด้วย
เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นอกเหนือจากกระบวนการกำจัดขยะของหน่วยงานราชการแล้ว แต่ละชุมชนก็สามารถร่วมมือร่วมใจกันกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้องได้ ตัวอย่างเช่น 5 ชุมชน ต่อไปนี้
ก่อนหน้านี้ชุมชนในเขตตำบลนาคู่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ต้องเผชิญกับปัญหาขยะมูลฝอยที่ส่งผลกระทบต่อทั้งครัวเรือนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลจึงตัดสินใจจัดตั้ง "โครงการบริหารจัดการขยะแบบยั่งยืน" ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง โดยมีการรณรงค์ สาธิต และอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภท การใช้ไส้เดือนกำจัดขยะอินทรีย์ การนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยชีวภาพ-น้ำหมักจุลินทรีย์ และการจัดการขยะพลาสติกโดยไม่เผาและไม่กลบให้กับทุกหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีแหล่งรับซื้อพลาสติกแห้งประจำเดือน ซึ่งช่วยให้ตอนนี้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาด เป็นระเบียบ และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น จนทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่ ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนต้นแบบที่มีผลงานดีเด่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเลยล่ะ
การบริหารจัดการขยะของชุมชนเขาพระงามที่ 24 หรือชุมชนกองพันทหารขนส่งซ่อมบำรุงเครื่องบินทหารบก กรมการขนส่งทหารบก เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทุกคนในชุมชน โดยเริ่มต้นจากการอบรมเกี่ยวกับการคัดแยกขยะทั้งในหน่วยทหารและตามบ้านเรือน จากนั้นก็ดำเนินการจัดหาพื้นที่ให้ทิ้งขยะอย่างถูกต้องและครอบคลุม มีถังขยะรองรับทุกประเภท มีหลายจุดตามโซนที่อยู่อาศัย และมีรั้วล้อมรอบเพื่อความเป็นระเบียบ รวมถึงมีการรับบริจาคขยะในชุมชนและมีโรงคัดแยกขยะขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เพื่อเป็นแหล่งส่งขายแล้วนำเงินมาพัฒนาชุมชนต่อไปด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นแต่ชุมชนนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องการนำขยะเหลือใช้กลับมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์อีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งประดิษฐ์จากขวดพลาสติก การรีไซเคิลกิ่งไม้ขนาดใหญ่เป็นถ่าน การทำน้ำส้มควันไม้ หรือการทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร นอกจากนี้ผู้คนในชุมชนยังรู้จักลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าแทนถุงพลาสติก เรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่ลดและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังได้รับรางวัลเกี่ยวกับดูแลสิ่งแวดล้อมมากมาย และเป็นชุมชนต้นแบบเกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งของกองทัพบกและของเทศบาลตำบลเขาพระงามเลย
เทศบาลตำบลปริก มีโครงการและกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว โดยทางเทศบาลร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดการฝึกอบรม สร้างความรู้ความเข้าใจ และให้แนวทางการแก้ไขกับผู้คนในชุมชนอยู่เสมอ จนล่าสุดเทศบาลตำบลปริกสามารถจัดการปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เริ่มตั้งแต่การร่วมมือกันคัดแยกขยะในแต่ละครัวเรือน จากนั้นก็นำขยะรีไซเคิลไปขายต่อให้กับธนาคารขยะ ส่วนขยะอินทรีย์ก็นำไปทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ สุดท้ายจึงเป็นหน้าที่ของเทศบาลในการจัดเก็บและกำจัดขยะต่อไป ส่งผลให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลงจากเดิมวันละ 6-7 ตัน เหลือวันละไม่ถึง 3 ตันเท่านั้น ที่สำคัญยังทำให้เทศบาลตำบลปริกได้รับการยกย่องเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการจัดการขยะประจำอำเภอสะเดาอีกด้วย
อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่กำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะมีกิจกรรมให้ความรู้และส่งเสริมให้ผู้คนหันมาลดและคัดแยกขยะ รวมถึงนำขยะมาแปรรูปใหม่ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังมี "ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร" ด้วย โดยโครงการนี้จะรับเอาขยะจากเทศบาลท้องถิ่นจำนวน 21 แห่ง มาคัดแยกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท (ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติก และขยะที่เหลือจากการคัดแยก) แล้วนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การรีไซเคิลหรือการทำปุ๋ยหมัก ส่วนที่เหลือก็กำจัดด้วยการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในบ่อฝังกลบ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) เพื่อผลิตไฟฟ้ากลับคืนสู่ชุมชนอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั่นเอง
1. ช่วยให้ปริมาณขยะของแต่ละชุมชนลดน้อยลง จึงบรรเทาภาระการจัดการขยะของหน่วยงานต่าง ๆ ลงไปด้วย
2. ช่วยให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาด สวยงาม น่าอยู่ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งช่วยลดมลพิษไปในตัว
3. ช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม และมีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน
4. ช่วยให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะและสามารถจัดการขยะเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง
5. ช่วยให้คนในชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูดสุดผ่านการแปรรูปขยะและนำกลับมาใช้ใหม่
6. ช่วยให้คนในชุมชนมีปุ๋ยชีวภาพและน้ำหมักจุลินทรีย์ไว้ใช้ทำการเกษตรแถมยังเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย
7. ช่วยปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน ที่นำไปสู่การลดใช้โฟมและพลาสติก
จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วขั้นตอนการกำจัดขยะในชุมชนไม่ได้ยาก เพียงแค่ร่วมมือร่วมใจกัน ก็ช่วยให้ชุมชนกลับมาสวยงาม น่าอยู่ ลดปริมาณขยะ และแบ่งเบาภาระการจัดการขยะได้มากแล้ว นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า แถมเป็นการสร้างรายได้ไปในตัวอีกด้วย เอาเป็นว่าใครอยากให้ชุมชนของตัวเองเป็นชุมชนนักกำจัดขยะ ก็ลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู โดยเริ่มต้นที่ตัวเรานะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรมควบคุมมลพิษ
สำนักงานเทศบาลตำบลปริก
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
องค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง