เปรียบเทียบข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกและถุงผ้า แบบไหนดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบ และวิธีลดใช้ถุงพลาสติกแบบง่าย ๆ แต่เห็นผลได้จริง ๆ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนแบบยั่งยืน
ภาวะโลกร้อนถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังจับตามอง เพราะนับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น จนทำให้หลายคนเริ่มเป็นกังวล ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากขยะพลาสติก ของใช้ใกล้ตัวที่มีเกลื่อนโลกและกำจัดได้ยาก ฉะนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง จนถึงขั้นที่องค์กร Plastic Bag Free World และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายแห่งทั่วโลก กำหนดให้มีวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) ทุกวันที่ 3 ของเดือนกรกฎาคมของทุกปีเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเองก็ถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจถึงปัญหาของถุงพลาสติกด้วยเหมือนกัน ว่าแต่ผลกระทบของถุงพลาสติกรุนแรงแค่ไหน ถ้าไม่ใช้ถุงพลาสติกจะใช้อะไรแทน แล้วถุงผ้าดีกว่าถุงพลาสติกจริงหรือเปล่า ตามมาหาคำตอบกันค่ะ
เพราะเราทุกคนใช้พลาสติกกันเยอะมากจนเกือบเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว จากรายงานกรมควบคุมมลพิษพบว่า ประเทศไทยในช่วง 10 ปีหลัง มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึงปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นถุงพลาสติกที่มีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเป็นถุงร้อน ถุงเย็น และถุงหูหิ้ว ฉะนั้นทุกวันนี้จึงมีการรณรงค์ให้ลดใช้ถุงพลาสติกกันมากขึ้น เนื่องจากถุงพลาสติกสร้างปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก พลาสติกบางประเภทต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตามธรรมชาตินานถึง 450 ปี จึงส่งผลให้กำจัดยากตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝังกลบ แต่ก็ต้องใช้พื้นที่มากกว่าขยะที่เป็นเศษอาหารมากถึง 3 เท่า เพราะมีปริมาตรและทนต่อแรงอัดสูง นอกจากนี้อาจจะใช้วิธีการเผา แต่ก็ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ เพราะพลาสติกมีสารเสริมเติมแต่งที่เป็นพิษ จึงไม่สามารถใช้กับเตาเผาธรรมดาได้ ต้องกำจัดโดยใช้เตาเผาขยะที่มีอุณหภูมิสูง ทั้งยังเกิดมลพิษที่ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของคนและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ขยะถุงพลาสติกยังสร้างปัญหาอีกมาก ทั้งปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ จนทำให้น้ำท่วมขังเวลาฝนตกหนัก ปัญหาการทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการทำลายทัศนียภาพอันสวยงาม และปัญหาการทิ้งลงทะเลและผืนป่า จนทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์ที่เผลอกินเข้าไป
เมื่อทราบถึงปัญหาและผลกระทบของถุงพลาสติกแล้ว หลายคนก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าหากไม่ใช้ถุงพลาสติก แล้วเราจะใช้อะไรแทนดี ซึ่งคำตอบที่น่าสนใจก็คือวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงผ้า ถุงกระดาษ ถุงชานอ้อย และอีกมากมาย ทว่าที่เป็นเทรนด์มากที่สุด คงต้องยกให้กับการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก แล้วเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์นี้ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ถุงผ้าดีกว่าถุงพลาสติกจริงหรือ ? เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ในกระบวนการผลิตถุงผ้ามีการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิต เช่น การฟอกสี การย้อมสีซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ช้าก่อนค่ะ เพราะจริง ๆ แล้วประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การทำลายชั้นบรรยากาศแต่อยู่อายุการใช้งานต่างหาก เนื่องจากถึงแม้ถุงพลาสติกจะเป็นวัสดุย่อยสลายยาก แต่อายุการใช้งานจริงสั้นมาก ผู้คนส่วนใหญ่มักจะใช้แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จนทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่างจากถุงผ้าที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ตลอด ทำความสะอาดง่าย ช่วยลดปริมาณขยะ พกพาไปไหนสะดวก แถมยังมีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานกว่ามาก
ฉะนั้นแล้วจึงสรุปได้ว่า การใช้ถุงผ้าถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในแง่ของการนำกลับมารียูส (Reuse) หรือการนำกลับมาใช้ซ้ำ ในขณะที่ถุงพลาสติกแม้จะนำกลับมาใช้ใหม่ก็ไม่คุ้มค่าเท่ากับการใช้ถุงผ้า เพราะมีผลการวิจัยจาก Environment Agency 2006 ระบุว่า เราต้องใช้ถุงพลาสติกซ้ำประมาณ 133-393 ครั้ง ถึงจะคุ้มค่าเท่ากับการใช้ถุงผ้า 1 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นถุงผ้ายังมีคุณสมบัติที่ดีและเหมาะสมกว่า เนื่องจากถุงผ้าที่ผลิตจากฝ้าย เช่น ถุงผ้าแคนวาส หรือจะเป็นถุงผ้ากระสอบ ทำมาจากธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย ต่างจากถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากและใช้เวลานานเป็นร้อยปี แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีถุงผ้าอีกชนิดที่ควรระวัง คือ ถุงผ้าพีวีซีหรือถุงผ้าไนลอน เพราะผลิตมาจากใยสังเคราะห์ ซึ่งมีสารพิษและย่อยสลายยากไม่ต่างจากถุงพลาสติกนั่นเอง
สืบเนื่องจากสถานการณ์และผลกระทบของขยะพลาสติก รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะพลาสติกที่กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกในประเทศไทยมากถึงปีละ 2 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้เพียงแค่ 0.5 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ที่เหลืออีกเกินครึ่งกลายเป็นปัญหาต่อการกำจัดและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นทางกรมควบคุมมลพิษก็เลยจัดทำ Roadmap เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกขึ้น โดยวางแผนดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-2570 และแบ่งออกเป็น 2 เป้าหมาย ได้แก่
1. นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 100% ภายในปี 2570
ด้วยแผนการจัดการขยะพลาสติก 3 มาตรการ คือ มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค
2. การเลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก 7 ประเภท
ด้วยการเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
✓ เลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal), พลาสติกที่ผสมสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) ภายในปี 2562
✓ เลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท ได้แก่ หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางที่ใช้ครั้งเดียวหรือหนาน้อยกว่า 300 ไมครอน และถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ภายในปี 2565
ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมูลพิษยังระบุว่า ประเทศไทยใช้ถุงพลาสติกราว 45,000 ล้านใบต่อปี โดย 40% หรือประมาณ 18,000 ล้านใบ มาจากตลาดสดและร้านค้าแผงลอย อีก 30% หรือประมาณ 13,500 ล้านใบ มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ส่วน 30% ที่เหลือ หรือประมาณ 13,500 ล้านใบ มาจากร้านขายของชำทั่วไป ดังนั้นการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกส่วนใหญ่จึงมักจะเริ่มที่ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้านั่นเอง
แม้ว่าการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะเป็นวิธีรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ว่าการลด ละ เลิกถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด สามารถจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนยิ่งกว่า ซึ่งวิธีการลดถุงพลาสติกเพื่อช่วยลดโลกร้อนก็ทำได้ไม่ยาก เริ่มต้นง่าย ๆ ได้ที่ตัวเราเริ่มจาก...
1. ลดรับ : วิธีลดถุงพลาสติกที่ง่ายที่สุดคือ การปฏิเสธการรับถุงพลาสติกทุกชนิด โดยเฉพาะเวลาซื้อของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงไม่กี่ชิ้น ก็สามารถถือกลับเองหรือใส่รวมในกระเป๋าได้ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องรับถุงพลาสติกจริง ๆ แนะนำให้ใช้ถุงใบใหญ่ใบเดียว แล้วใส่สิ่งของทั้งหมดรวมกันแทน
2. ลดให้ : วิธีลดถุงพลาสติกที่เห็นผลดีมากที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการส่งต่อถุงพลาสติกให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะร้านค้า ร้านขายของต่าง ๆ แนะนำให้เปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายยาก มาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงกระดาษ กล่องชานอ้อย และใบตองแทน
3. ลดใช้ : วิธีลดถุงพลาสติกที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด โดยการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระเป๋า เป้ ย่าม ตะกร้า ปิ่นโต และกล่องข้าวแทน
นอกจากนี้อย่าลืมคัดแยกขยะให้ถูกต้องทุกครั้ง โดยก่อนจะทิ้งถุงพลาสติกทุกครั้งให้ล้างทำความสะอาดให้ดีและไม่ทิ้งปนกับขยะมูลฝอยอย่างอื่น เพื่อช่วยให้กำจัดได้อย่างง่ายดายและนำไปรีไซเคิลได้สะดวกขึ้น
แน่นอนว่าการเลิกใช้ถุงพลาสติก แล้วเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ เช่น ถุงผ้า ถุงชานอ้อย ถุงกระดาษ เป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งกว่าและได้ประโยชน์อย่างแท้จริง หากทุกคนนำถุงผ้ากลับมาใช้ซ้ำ อีกทั้งควรเลี่ยงการใช้ถุงผ้าที่มีส่วนผสมของพลาสติก เพราะเวลานำไปซักจะทำให้มีไมโครพลาสติกปะปนไปกับแหล่งน้ำ ซึ่งต่างอะไรกับการใช้ถุงพลาสติกเลยนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรมควบคุมมลพิษ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง