จากสถานการณ์ปัญหาการปล่อยน้ำเสียและการทิ้งขยะลงในแม่น้ำในปัจจุบันทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียจนไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ขณะที่แหล่งน้ำในชุมชนเมืองที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำประปามีคุณภาพต่ำ ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา ขณะเดียวกันทะเลไทยก็มีขยะตกค้างอยู่จำนวนมาก
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน จากสถานการณ์ปัญหาการปล่อยน้ำเสียและการทิ้งขยะลงในแม่น้ำในปัจจุบันทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียจนไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ขณะที่แหล่งน้ำในชุมชนเมืองที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำประปามีคุณภาพต่ำ ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา ขณะเดียวกันทะเลไทยก็มีขยะตกค้างอยู่จำนวนมาก โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2559 พบปริมาณขยะในทะเลเท่ากับ 10.78 ตันต่อปี ซึ่งน้ำที่เน่าเสีย เป็นแหล่งของเชื้อโรคและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ ทำให้ระบบนิเวศและธรรมชาติเป็นพิษ เมื่อประชาชนบริโภคสัตว์น้ำและพืชผักที่มีสารพิษตกค้างเข้าไป สารพิษจะสะสมในร่างกายส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย
"สาเหตุหลักของปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสีย เกิดจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ โดยไม่มีการจัดการน้ำหรือ บำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้เป็นน้ำเสียที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของบ้านเรือนชุมชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น น้ำจากส้วม น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำจากการชำระล้าง สิ่งปฏิกูล สารพิษ และสารเคมีอื่นๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช สารเคมีจากปุ๋ยทำการเกษตรและมูลสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คนไทยทุกคนและทุกภาคส่วน จึงต้องตระหนักและร่วมด้วยช่วยกันดูแลแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ ในชุมชน รวมถึงท้องทะเลไทย ด้วยการไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล หรือสารพิษลงในแหล่งน้ำ รวมทั้งมีการจัดการสิ่งปฏิกูลและ น้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และสารพิษ รักษาแม่น้ำ ลำคลอง และสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้สะอาด ปลอดภัยสำหรับทุกคน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง