"ทำไมต้องแยกขยะ ในเมื่อสุดท้ายก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี" คำถามคาใจที่หลายคนยังสงสัยว่าการแยกขยะมีประโยชน์อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับสถานการณ์ "ขยะ" ที่กำลังลุกลามเข้าขั้นวิกฤต
"ขยะ" จากสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ หรือพูดว่าเข้าขั้นวิกฤตก็ไม่ผิดนัก เนื่องจากสรุปสถานการณ์มลพิษ ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อคนแล้วละก็ อยู่ที่ประมาณ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว
มาดูไปพร้อม ๆ กันว่า "ขยะ" มากมายเหล่านี้มาจากไหน สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดวิกฤต มีวิธีใดช่วยจัดการให้น้อยลงได้บ้าง แล้วทุกคนจะช่วยกันผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร การแยกขยะช่วยลดขยะได้จริงไหม มีวิธีคัดแยกขยะอย่างไร สร้างประโยชน์อะไรให้กับชุมชนบ้าง
จากกราฟหากเทียบกับจำนวนขยะตลอดระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปีล่าสุด จะเห็นว่าขยะในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยจำนวนขยะทั้งหมดในปี 2561 แบ่งออกเป็นขยะที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน อีก 9.58 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ใหม่ และส่วนสุดท้ายอีก 7.36 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดแบบไม่ถูกต้องและสร้างปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค มีสิ่งสกปรกปนเปื้อนในแหล่งน้ำ พื้นดิน เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่น ควัน สร้างความรำคาญและภาพที่ไม่น่าดูอีกต่างหาก
สาเหตุที่ทำให้ขยะมีปริมาณมากขึ้นก็มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
► จำนวนประชากรมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งมีจำนวนคนมากขึ้นเท่าไร จำนวนขยะก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะขยะเกิดจากสิ่งของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งมีทั้งส่วนที่เรานำไปใช้ประโยชน์ และส่วนเกินที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง
► กำจัดขยะผิดวิธี การกำจัดขยะไม่ใช่แค่การทำให้ขยะหายไปจากบ้านของเรา เช่น กองทิ้งบนดินรกร้าง นำไปเผากลางแจ้ง ทิ้งลงสู่ทะเล-แม่น้ำลำคลอง หรือจบแค่การทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพราะนอกจากจะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาแบบไม่รู้จบ
► การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อย แม้ในตอนนี้หลาย ๆ องค์กรจะมีการรณรงค์เรื่องการนำขยะกลับมารีไซเคิล แต่ก็ยังช่วยกำจัดขยะได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ในปี 2561 มีการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน จากขยะทั้งหมด 27.82 ล้านตัน
ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีปริมาณขยะเยอะ ๆ นับพันตันต่อวันนั้น ส่วนมากจะเป็นเมืองใหญ่ เขตอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีปริมาณขยะมากถึง 13,240 ตันต่อวัน รองลงมา คือ ชลบุรี 2,591 ตันต่อวัน และตามมาด้วย จังหวัดนครราชสีมา 2,480 ตันต่อวัน
การกำจัดขยะจะมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการขยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนตามแนวคิด Waste Management Hierarchy โดยการลำดับความสำคัญของการจัดการขยะ ประกอบด้วย
► Source Reduction and Reuse การลดและการใช้ซ้ำที่แหล่งกำเนิด เช่น การนำถุงผ้ากลับมาใช้ซ้ำแทนการใช้ถุงพลาสติก นำแก้วน้ำส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มแทนแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือการนำของเก่าไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ เป็นต้น
► Recycling and Composting การนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า การรีไซเคิล นั่นเอง เช่น การประดิษฐ์ของใช้ภายในบ้านจากเศษวัสดุต่าง ๆ รวมไปถึงการนำเศษอาหารอย่าง ผัก เปลือกผลไม้ ไปทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับบำรุงดินอีกด้วย
► Energy Recovery การนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงาน ทั้งในรูปแบบของความร้อน ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน และไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การกำจัดขยะด้วยเตาเผาไฟฟ้า ซึ่งสามารถกำจัดขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม เห็นผล และนิยมใช้ในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์
► Landfill การฝังกลบ ลำดับสุดท้ายของการกำจัดขยะ แม้จะกำจัดขยะได้ทุกประเภท แต่ก็มีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ รองรับปริมาณขยะได้จำกัด ไม่สามารถทำได้ในหลายพื้นที่ ที่สำคัญหากออกแบบบ่อฝังกลบไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน มีน้ำชะขยะปนเปื้อนกับดินและแหล่งน้ำ
แน่นอนว่าก่อนที่เราจะนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและช่วยลดปริมาณขยะได้นั้น ก็ต้องแยกขยะให้ถูกวิธีกันก่อน เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ ตามสีถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่
สำหรับทิ้งขยะอินทรีย์ ขยะเปียก ขยะเน่าง่าย ย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ มูลสัตว์ กิ่งไม้และเศษไม้
แนวทางการคัดแยก :
✓ แยกทิ้งเศษอาหารออกจากขยะประเภทกิ่งไม้และเศษไม้ เพราะสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้
✓ บรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะ ป้องกันการเกิดแหล่งเชื้อโรค
สำหรับทิ้งขยะรีไซเคิล หรือขยะที่สามารถนำไปขายหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และกระป๋องเครื่องดื่ม
แนวทางการคัดแยก :
✓ แยกขยะตามสี ชนิด และประเภทของขยะรีไซเคิล เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
✓ แยกขยะรีไซเคิลที่เสียหายและขยะสภาพดีออกจากกัน
สำหรับทิ้งขยะอันตราย โดยสังเกตได้จากฉลากบนบรรจุภัณฑ์ หากมีคำว่า สารไวไฟ สารมีพิษ หรือสารกัดกร่อน ก็จัดอยู่ในขยะประเภทนี้ทั้งหมด เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ กระป๋องสเปรย์ ขวดยาฆ่าแมลง
แนวทางการคัดแยก :
✓ ไม่ทิ้งรวมในถุงเดียวกัน ควรแยกขยะอันตรายแต่ละประเภทออกจากกัน และวางให้พ้นมือเด็กและห่างจากห้องครัว
✓ ควรระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก และสวมถุงมือขณะคัดแยกทุกครั้ง ป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
สำหรับทิ้งขยะทั่วไป ประเภทขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือไม่คุ้มที่จะนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เช่น พลาสติกห่อขนม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลอดกาแฟ กล่องโฟม
แนวทางการคัดแยก :
✓ แยกขยะออกมาให้ชัดเจน ไม่ทิ้งปะปนกับเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล เพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับไปใช้
✓ ขยะที่มีลักษณะแหลม เช่น ไม้ลูกชิ้น ควรหักปลายแหลมก่อนทิ้ง
ส่วนเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า แยกขยะไปทำไม สุดท้ายก็ถูกเทรวมกันอยู่ดีนั้น จริง ๆ แล้วถังใบใหญ่ ๆ บนรถขยะแต่ละคันนั้นมีช่องแยกไว้สำหรับใส่ขยะแต่ละประเภทด้วย
การแยกขยะ ไม่ใช่แค่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องทำการคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงกำจัดขยะหรือบ่อฝังกลบ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมทั้งการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะขยะบางประเภทยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อน Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด เช่น นำขยะมาแปรรูปเป็นของใช้ในบ้านหรือพลังงานไฟฟ้านั่นเอง
หากถามว่าการแยกขยะลดขยะได้จริงไหม ? ก็ขอตอบเลยว่า จริง เพราะปี 2561 จากสรุปสถานการณ์มลพิษ ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การจัดการขยะมีแนวโน้มที่ดี เมื่อมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้สามารถนำขยะเหล่านั้นกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ในปี 2560 มีการนำขยะกลับไปใช้ 8.51 ล้านตัน แต่ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 9.58 ล้านตัน ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อยเลย รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมช่วยกันแยกขยะก่อนนำไปทิ้งด้วยนะคะ
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง