มาทำความรู้จัก “ธนาคารขยะ” หรือ “ธนาคารขยะรีไซเคิล” กิจกรรมที่ช่วยลดภาระการจัดการขยะ เพิ่มปริมาณการคัดแยกขยะในชุมชน แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
จากการสำรวจข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปริมาณขยะในปี 2561 มีมากถึง 27.93 ล้านตัน นับว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 2.05% โดยทั้งหมดถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องประมาณ 10.85 ล้านตัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 9.76 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 7.32 ล้านตัน ได้รับการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ไม่ว่าจะทำให้เกิดควันหรือมลพิษทางอากาศจากการเผาขยะกลางแจ้ง มีน้ำเสียหรือมลพิษทางน้ำจากการที่ขยะตกค้างไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้บรรยากาศไม่น่าอยู่เนื่องจากมีขยะเกลื่อนพื้นและส่งกลิ่นเหม็น หรือแม้กระทั่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงวัน และแมลงสาบ
ฉะนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงได้จัดตั้งกิจกรรมหรือโครงการที่ช่วยรณรงค์ให้ผู้คนรู้จักคัดแยกขยะ และนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดขึ้น เช่น การจัดหาสถานที่ทิ้งขยะแบบแยกประเภท การรณรงค์ลดใช้โฟมและพลาสติก ศูนย์วัสดุรีไซเคิลของชุมชน ธนาคารขยะรีไซเคิล ผ้าป่ารีไซเคิล ขยะแลกไข่ และการผลิตเชื้อเพลิงเขียว
สำหรับธนาคารขยะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2542 ณ โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดพันปี) อ.เมือง จ.พิษณุโลก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ของ บริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด บังเอิญเห็นนักเรียนเก็บขยะไปขายแล้วนำเงินที่ได้ไปฝากธนาคาร จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างแหล่งรับซื้อ-ขายขยะในโรงเรียน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เลยนำไปเสนอกับเทศบาลนครพิษณุโลก จนกระทั่งได้รับการอนุมัติ และเกิดเป็นธนาคารขยะแห่งแรกในที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จและแพร่ขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ เรื่อย ๆ จนตอนนี้มีธนาคารขยะอยู่ทั่วประเทศ
ส่วนแนวคิดหลักของการทำธนาคารขยะ ได้แก่ การกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะกันมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและคนในชุมชนรู้จักคัดแยกขยะ หารายได้เสริม และฝึกนิสัยการออมไปในตัว ที่สำคัญคือเป็นการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนลงอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง
ขั้นตอนการจัดตั้งและดำเนินงานธนาคารขยะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเปิดธนาคาร ช่วงระหว่างเปิดธนาคาร และช่วงหลังเปิดธนาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การจัดตั้งธนาคารขยะ เริ่มจากการคัดเลือกคณะกรรมการประมาณ 8-10 คน เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการธนาคารในทุก ๆ ด้าน พร้อมทั้งประเมินผลกิจกรรมเป็นประจำทุก ๆ เดือน ที่สำคัญควรแต่งตั้งคณะกรรมการสำรองเผื่อไว้อีกหนึ่งชุด เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้ โดยคณะกรรมการธนาคารขยะจะประกอบไปด้วย
► ที่ปรึกษา จำนวน 1-2 คน : มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ และคอยดูแลธนาคารให้น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
► ผู้จัดการ จำนวน 1 คน : มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของพนักงาน พร้อมทั้งดูแลการดำเนินงานภาพรวมของธนาคาร
► รองผู้จัดการ จำนวน 1 คน : มีหน้าที่ช่วยดูแลการดำเนินงานภาพรวมของธนาคารแทนผู้จัดการ
► เจ้าหน้าที่คัดแยกและชั่งน้ำหนัก จำนวน 2 คน : มีหน้าที่คัดแยกและชั่งน้ำหนักขยะรีไซเคิลหรือของเก่าที่สมาชิกนำมาฝาก
► เจ้าหน้าที่จดบันทึก จำนวน 2 คน : มีหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิก ทั้งชื่อ นามสกุล และเลขสมาชิก รวมถึงประเภทและปริมาณขยะด้วย
► เจ้าหน้าที่คิดเงิน จำนวน 1-2 คน : มีหน้าที่เปรียบเทียบประเภทและปริมาณขยะกับราคาที่กำหนดไว้ จากนั้นก็คำนวณออกมาเป็นเงินฝาก นอกนี้จากนี้ยังดูแลเรื่องการถอนเงินของสมาชิกด้วย
► เจ้าหน้าที่บัญชี จำนวน 1-2 คน : มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น เอกสารสรุปยอดเงินฝาก เอกสารสรุปยอดรายรับ-รายจ่าย เอกสารยอดคงเหลือของขยะรีไซเคิล และอีกมากมาย
หลังจากได้สมาชิกเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่ในการเตรียมงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาสถานที่ในการเก็บขยะ ซึ่งควรเลือกเป็นบริเวณที่ไม่โดนแดด โดนฝน และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท ประกอบด้วย แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะและอโลหะ การจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องชั่ง สมุดคู่ฝาก ใบฝาก ใบถอน และเอกสารการทำบัญชีต่าง ๆ การจัดหาร้านรับซื้อของเก่าเพื่อกำหนดราคาซื้อ-ขาย และวันเข้ามารับขยะ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ อบรม และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธนาคารขยะด้วย
วิธีการดำเนินงานระหว่างการเปิดธนาคาร ขั้นตอนแรกต้องรับสมัครสมาชิกของธนาคารก่อน โดยให้ผู้สมัครกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงในแบบฟอร์มใบสมัคร จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็คัดลอกข้อมูลลงในทะเบียนคุมลูกค้า แล้วส่งเลขสมาชิกให้กับผู้สมัคร พร้อมลงรายละเอียดในสมุดคู่ฝาก ซึ่งทางธนาคารจะเป็นฝ่ายเก็บสมุดคู่ฝากเอาไว้เอง
ขั้นตอนการฝาก
1. ให้สมาชิกนำขยะพร้อมกับใบฝาก ส่งให้เจ้าหน้าที่คัดแยกและชั่งน้ำหนัก
2. เจ้าหน้าที่คัดแยกและชั่งน้ำหนักให้ถูกต้อง พร้อมส่งใบฝากต่อให้เจ้าหน้าที่จดบันทึก ซึ่งจะคอยจดบันทึกประเภทและปริมาณขยะลงไปตามความจริง โดยจะเรียกให้สมาชิกมาดูไปพร้อม ๆ กัน
3. ส่งใบฝากต่อให้เจ้าหน้าที่คิดเงินเพื่อเปรียบเทียบราคาและคำนวณลงในใบฝาก
4. เสร็จแล้วก็มอบให้กับเจ้าหน้าที่บัญชีเพื่อลงข้อมูลในสมุดคู่ฝากและเก็บไว้เป็นหลักฐาน
5. จากนั้นนำไปให้ผู้จัดการธนาคารตรวจสอบความถูกต้องต่อ พร้อมทั้งให้สมาชิกเช็กความเรียบร้อยอีกครั้ง
6. เมื่อถูกต้องครบถ้วนแล้ว ทั้งสมาชิกและผู้จัดการก็จะเซ็นลงในใบฝากและสมุดคู่ฝากเพื่อเป็นการยืนยัน
ขั้นตอนการถอน
สมาชิกสามารถถอนเงินได้ในครั้งถัดไปหลังจากธนาคารนำขยะไปขายต่อแล้ว แต่มีข้อแม้ว่าสมาชิกที่จะถอนเงิน ต้องนำขยะมาฝากใหม่ในวันนั้น ๆ ด้วย
วิธีการดำเนินงานช่วงหลังเปิดธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นการสรุป รวบรวม และประเมินผล โดยเจ้าหน้าที่จะต้องสรุปผลการฝาก-ถอนแต่ละวัน รวมถึงแต่ละเดือน แล้วแจ้งรายละเอียดให้สมาชิกทราบ
นอกจากนี้ยังต้องรวบรวมข้อมูลและประเมินผลการทำงาน ผ่านการนำยอดสมาชิก ปริมาณขยะ จำนวนเงิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาพิจารณาและสังเกตการณ์เป็นประจำทุกเดือน รวมถึงคอยประชุมและวางแผนประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญอย่าลืมทำการขายขยะให้กับร้านรับซื้อของเก่าที่ติดต่อไว้ให้เรียบร้อยภายในวันและราคาที่กำหนด ทั้งนี้ ราคาของขยะแต่ละประเภทสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด
เพื่อเป็นการเปรียบเทียบราคาคร่าว ๆ ทั้งสมาชิก ธนาคาร และร้านรับซื้อของเก่า สามารถเช็กราคากลางของการซื้อ-ขายขยะได้ที่ เว็บไซต์ JunkBank องค์กรเพื่อสังคมที่ร่วมมือกับสมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความโปร่งใสให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเว็บไซต์จะแยกราคาของขยะรีไซเคิลและของเก่าออกเป็นหมวดหมู่และชนิดอย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็นประเภท ได้แก่ แก้ว กระดาษ พลาสติก เหล็ก และโลหะ
1. ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
2. ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น และบรรเทาภาระการจัดการขยะลง
3. ช่วยสร้างรายได้เสริมพร้อมทั้งฝึกนิสัยการออมให้กับคนในชุมชน ทำให้ผู้คนมีเงินเก็บ เยาวชนมีเงินใช้ และสามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้
4. ช่วยให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของการคัดแยกและการรีไซเคิลขยะ พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกเรื่องการลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
5. การส่งเสริมโครงการธนาคารขยะในโรงเรียน ยังช่วยให้เยาวชนมีการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม เข้าใจระบบการทำงานของธนาคารหรือการทำธุรกิจขนาดเล็ก อีกทั้งยังฝึกให้คิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
6. เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีให้กับคนในชุมชน รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นด้วย
นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะและช่วยจัดการขยะอย่างถูกต้องแล้ว ธนาคารขยะยังเป็นโครงการที่ช่วยปลูกฝังนิสัยการออม ปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ได้ด้วย ฉะนั้นต่อไปนี้แทนที่จะทิ้งขยะรวมกันจนทำให้เกิดปัญหาตามมา มาคัดแยกขยะและนำไปขายให้เกิดประโยชน์สูงสุดกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
กรมควบคุมมลพิษ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ขอขอบคุณที่มา : https://erc.kapook.com/article12.php
สาระน่ารู้ အခြားသူများနဲ့ဆက်စပ်မှု