เปลี่ยนขยะ...ให้เป็นเงิน
จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 เผยว่าคนไทยผลิตขยะคนละ 1.14 กิโลกรัม ต่อวัน เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับเราผลิตขยะถึง 7.4 หมื่นตันต่อวัน แต่กลับพบว่ามีการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องไม่ถึงครึ่ง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องจึงเกิดเป็นขยะสะสม เกิดเป็นปัญหามลภาวะ ส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากขยะอุดตันท่อระบายน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในวงกว้าง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณขยะ รวมถึงการกำจัดขยะที่ถูกวิธีเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี จึงได้จัดกิจกรรม "แค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ก็ลดปริมาณขยะลงได้ 2 เท่า" ภายใต้โครงการ SOOK Activity เพื่อเสนอแนะไลฟ์สไตล์ที่ช่วยลดปริมาณขยะและเทคนิคการจัดการกับขยะในครัวเรือนที่ถูกต้อง พร้อมการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจากของเหลือใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แถมสร้างรายได้ได้อีกด้วย
เทคนิควิธีการเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า และเพิ่มรายได้นั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษแนะนำว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำเป็นอันดับแรก คือการคัดแยกขยะที่ถูกวิธีก่อน จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยสามารถแบ่งการคัดแยกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ อาทิ เศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ได้จากการนำเศษอาหาร เปลือกผลไม้ ผสมใบ้ไม้แห้งแล้วหมักผสมกัน จะทำให้ได้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
2.ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำมาขายได้ เช่น แก้ว ขวดน้ำ กระดาษ พลาสติก โลหะ และอโลหะ วิธีการจัดเก็บขยะรีไซเคิลทำได้โดย ให้นำถุงใหญ่ หรือ ลังกระดาษมาทำเป็นกล่องมหาสมบัติ และคอยแยกขยะ รีไซเคิลมาใส่ไว้ เมื่อครบสิ้นเดือนค่อยนำออกมาขายแก่ร้านที่รับซื้อ หรือถ้าเป็นกระดาษ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของชิ้นใหม่ๆ เช่น ช่อดอกไม้กระดาษจากกระดาษที่ใช้แล้ว
3. คือขยะทั่วไป คือขยะที่ไม่ย่อยสลาย อาทิ โฟม ถุงพลาสติก กล่องนม ถุงขนม ฯลฯ ซึ่งของใช้เหล่านี้ใช้เวลาในการย่อยสลายนาน หรือบางอย่างไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่า สร้างรายได้ เช่น กล่องนม นำมาล้าง และตัดให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ ก็จะสามารถนำมาแปรรูปให้เป็นหมวกได้ แม้กระทั่งถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ก็สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาร้อยและเย็บกับผ้าที่เหลือใช้ให้เป็นกระเป๋าในสไตล์ของเรา รวมไปถึงยังสามารถนำมาประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง"
4. ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีอันตรายต่อตัวคนและสิ่งแวดล้อม อาทิ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และกระป๋องยาฆ่าแมลง ซึ่งขยะจำพวกนี้ต้องคัดแยกใส่ถังขยะให้ถูกต้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปทำลายอย่างเหมาะสมไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
สาระน่ารู้ အခြားသူများနဲ့ဆက်စပ်မှု