รู้เรื่องขยะ ขยะ !!!
ที่มา คู่มือธนาคารขยะรีไซเคิล , กรมควบคุมมลพิษ
รู้ไหมว่า คนไทยกว่า 65 ล้านคน สร้างขยะมูลฝอยได้มากถึง 16 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ร้อยละ 22 หรือเฉลี่ย 9,800 ตันต่อวัน โดยขยะมูลฝอย ที่กำจัดอย่างถูกวิธีมีไม่ถึง 40% ที่เหลือกว่า 60% จึงตกค้างตามสถานที่ต่างๆ และสร้างปัญหามลพิษต่อตัวเราและชุมชน
ขยะแต่ละชนิดใช้เวลาย่อยสลายไม่เท่ากัน
ชนิดของขยะ ระยะเวลา
เศษกระดาษ 2 - 5 เดือน
เปลือกส้ม 6 เดือน
ถ้วยกระดาษเคลือบ 5 ปี
ก้นบุหรี่ 12 ปี
รองเท้าหนัง 25 – 40 ปี
โลหะ, กระป๋องอะลูมิเนียม 80 – 100 ปี
ถุงพลาสติก 450 ปี
ผ้าอ้อมเด็กชนิดสำเร็จรูป 500 ปี
โฟม ใช้เวลานานมาก ระบุไม่ได้
มีอะไรในถังขยะที่บ้าน
• เศษอาหาร 34.20% • ใบไม้และไม้ 6.60% • แก้ว 5.10% • เศษผ้า 4.50%
• กระดาษ 13.60% • หนังและยาง 2.10% • อื่นๆ 8.60% • พลาสติกและโฟม 20.80%
• โลหะ 2.20% • หินเซรามิคเปลือกหอย กระดูก 2.30%
ประเภทของขยะ
เราแบ่งขยะได้เป็น 4 ประเภท คือ
46% ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษวัชพืช เศษอาหาร เปลือกผลไม้ ฯลฯ สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยได้
42% ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถนำไปขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ/อโลหะ ฯลฯ
9% ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้และไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น โฟม ซองบะหมี่สำเร็จรูป เศษหิน เศษปูน ฯลฯ
3% ขยะอันตรายหรือขยะมีพิษ เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และขยะติดเชื้อ ฯลฯ ขยะเหล่านี้ต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
เราสามารถช่วยกันลดปริมาณขยะด้วยหลักการง่ายๆ สามประการ ( 3R ) ได้แก่
1. ลดการใช้ (Reduce) เป็นการป้องกันให้มีขยะเกิดขึ้นน้อยที่สุด เช่น
• ใช้ภาชนะ เช่น ตะกร้า ปิ่นโต ฯลฯ ใส่อาหารหรือของ แทนการใช้ถุงพลาสติกหรือโฟมซึ่งกำจัดยาก
• เลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ มีหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์น้อย และอายุการใช้งานยาวนาน โดยทั่วไปหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์มีไว้เพื่อป้องกันและเก็บรักษาสินค้า แต่เดี๋ยวนี้หีบห่อมีหน้าที่ทำให้สินค้าสวยงามน่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดให้เราอยากซื้อสินค้าด้วย จึงเกิดหีบห่อส่วนเกินที่ไม่จำเป็นและกลายเป็นขยะเพิ่มขึ้นมาอีก
• ใช้สินค้าชนิดเติม เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาด ถ่านไฟฉายชนิดชาร์ตได้ เป็นต้น
2. การใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นการใช้วัสดุให้คุ้มค่าที่สุดก่อนจะทิ้งไป เช่น
• การใช้กระดาษทั้งสองหน้า
• การนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำ เช่น การนำกล่อง และถุงมาใช้ซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง
• การนำสิ่งของมาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เช่น นำถังหรือกะละมังที่รั่วแล้วมาเป็นกระถางต้นไม้ นำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นภาชนะใส่ปากกา ดินสอ เป็นต้น
3. การรีไซเคิล (Recycle) เป็นการนำวัสดุที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นำมาแปรรูปใช้ใหม่โดยกรรมวิธีต่างๆ เช่น นำเศษแก้วไปหลอมเป็นขวดแก้ว ฯลฯ วิธีนี้ช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในการผลิต และยังช่วยลดปริมาณขยะลงด้วย ขยะที่สามารถรีไซเคิล ได้แก่ กระดาษ แก้ว พลาสติก เหล็ก อลูมิเนียม เป็นต้น เรามีส่วนร่วมในการรีไซเคิล
ขยะได้โดยการคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้จากขยะทั่วไปที่บ้าน โรงเรียน ทีทำงาน และนำขยะนี้ไปและนำขยะนี้ไปขายให้แก่ร้านรับซื้อของเก่า
รู้ไหมว่าการทิ้งขยะรีไซเคิลไปกับขยะมูลฝอยอื่นๆ นั้น เท่ากับว่าเรากำลังทิ้งเงินลงถังขยะ เพราะขยะรีไซเคิลเป็นขยะที่ขายได้
ขยะรีไซเคิล แยกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ แก้ว กระดาษ พลาสติก และโลหะ
แก้วเป็นวัสดุผิวเรียบ แข็งใส แต่เปราะบางแตกร้าวง่าย แก้วเป็นขยะที่ไม่ย่อยสลายแต่นำไปรีไซเคิลได้ ที่นิยมกันได้แก่ ขวดแก้วต่างๆ เช่น ขวดน้ำอัดลม ขวดสุรา ขวดเบียร์ ขวดโซดา ขวดน้ำปลา ขวดซอส ขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่างๆ ขวดยา ฯลฯ ในแต่ละวันมีขวดแก้วที่ใช้แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านใบถูกทิ้งให้เป็นขยะ ขวดแก้วดี ขายได้ราคาดีกว่าเศษแก้ว โรงงานจะนำไปล้างให้สะอาดและฆ่าเชื้อโรค แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซ้ำอีกอย่างน้อย 30 ครั้ง หากไม่แตกหรือบิ่นเสียก่อน
เศษแก้วหรือขวดแก้วแตก โรงงานที่ผลิตขวดแก้วจะนำไปหลอมผสมกับแก้วใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต
กระบวนการผลิตกระดาษ 1 ตัน จะต้องใช้ทรัพยากรต้นไม้ 17 ต้น กระแสไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง น้ำมันเตา 300 ลิตร น้ำสะอาด 100 ตัน และคลอรีน 5 กิโลกรัม (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ,2546
ในบรรดาขยะรีไซเคิลนั้น กระดาษเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่ายที่สุดเพราะผลิตจากเยื่อไม้ธรรมชาติทุกวันนี้เรามีขยะกระดาษทั้งหมดกว่า 3.4 ล้านตันต่อปี มีการจัดเก็บและนำมารีไซเคิลได้ประมาณ 1.3ล้านตัน ส่วนที่เหลือถูกทิ้งปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ จนไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ,2547 www.pcd.go.th)
กระดาษที่ขายได้และร้านรับซื้อของเก่ารับซื้อ
• หนังสือพิมพ์ สมุดนักเรียน กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษคอมพิวเตอร์ กล่องกระดาษ
หรือกระดาษลัง พวกนี้ขายได้ราคาดี
• หนังสือเล่ม กระดาษสี เศษกระดาษ พวกนี้ราคาถูก
กระดาษที่ร้านรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อ
• กระดาษที่เคลือบด้วยพลาสติก เช่น กระดาษห่อของขวัญ กล่องนม ฯลฯ
• กระดาษที่ทำจากผ้า เช่น กล่องแอปเปิล บางชนิดที่มาจากประเทศจีน
พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบมีหลายประเภท และนำมาใช้ผลิตสินค้ามากมายที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งที่มีขนาดเล็กอย่างฝาจุกน้ำปลาไปจนถึงขนาดใหญ่อย่างท่อเอสลอน ในปี พ.ศ. 2547 ปริมาณขยะพลาสติกมีทั้งสิ้น 2.9 ล้านตัน โดยมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ประมาณ 0.6 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นถุงพลาสติกถึง 1.5 - 2.0 ล้านตัน (แต่ร้านรับซื้อของเก่าส่วนใหญ่ไม่ซื้อถุงพลาสติก) (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ, 2547)
พลาสติกเป็นขยะย่อยสลายยากมาก มีอายุยืนยาวจนเป็นอมตะ การรีไซเคิลจึงเป็นการจัดการขยะพลาสติกที่เหมาะสมที่สุด ขยะพลาสติกในบ้านเราที่ขายได้ เช่น ขวดและแก้ว เช่น ขวดน้ำดื่มแบบขาวขุ่น ขวดเพชรหรือขวดชนิดใส ขวดน้ำมันพืช ขวดยาคูลท์ แกลลอนน้ำมัน แก้วน้ำพลาสติก ถ้วยไอศกรีม ฯลฯ
ของใช้ส่วนตัว เช่น ขวดยาสระผม หลอดโฟมล้างหน้า รองเท้ายาง ส้นรองเท้า ฯลฯ
ของใช้กระจุกกระจิก เช่น ฝาจุกน้ำปลา สายยางเก่า เปลือกสายไฟที่แกะลวดทองแดงออก ตลับ
เทป วีดีโอเทป กระถางต้นไม้พลาสติก ท่อ PVC ท่อเอสลอน ฯลฯ
การนำโลหะมารีไซเคิลจะช่วยลดการใช้วัตถุดิบร้อยละ 9 และช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ประเภทโลหะที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ คือ
เหล็ก ใช้กันมากที่สุดในอุปกรณ์ต่างๆ ทั่วโลกมีการนำเศษเหล็กมารีไซเคิลใหม่ถึง 50% เพื่อลดต้นทุนการผลิต เหล็กที่นำไปขายได้ เช่น น๊อต ตะปู ขาเก้าอี้ ล้อจักรยาน ตะแกรง แป๊ปประปา เหล็กฉาก ข้อต่อวาล์ว เฟืองขนาดเล็ก กระป๋องสังกะสี กระป๋อง ปี๊ป ฯลฯ
อะลูมิเนียม นำมาจากแร่บอกไซด์ในป่าเขตร้อน ซึ่งต้องทำลายพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ทำให้สภาพแวดล้อมเสียสมดุล รวมทั้งในกระบวนการผลิตอะลูมิเนียมยังทำให้เกิดก๊าซฟลูออรีนที่ก่อมลพิษ การรีไซเคิลอะลูมิเนียมจึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากอะลูมิเนียมที่นำไปขายได้ เช่น กะละมังซักผ้า ขันน้ำ กระป๋องเบียร์ กระป๋องน้ำอัดลมหรือที่มักเรียกกันว่ากระป๋องแคนซึ่งนิยมกันมากในปัจจุบัน ฯลฯ
สาระน่ารู้ အခြားသူများနဲ့ဆက်စပ်မှု