ห้องปันฝัน ปันสุข (Counseling Room)
ปัจจุบันสังคมไทยมีความเป็นพลวัตรในตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เพียงแต่พลวัตทางสังคมแต่รวมไปถึงพลวัตทางวัฒนธรรม เพื่อให้มีความทัดเทียมกับสังคมโลก ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ความทัดเทียมสังคมโลกนั้น อาจส่งผลต่อโครงสร้างในมิติต่างๆของสังคม เช่น ครอบครัวมีความเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สังคมมีความเป็นปัจเจกชนสูง รับค่านิยมในหลากหลายวัฒนธรรม ระบบการสื่อสารที่มีทั้งด้านบวกและลบ ระบบเศรษฐกิจไทยผูกโยงกับเศรษฐกิจโลก ความเลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ หากไม่ได้รับการจัดสวัสดิการที่พึงประสงค์อาจส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาในมิติด้านสุขภาพจิต มิติทางสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้
พื้นที่เทศบาลนครแม่สอด เป็นอีกพื้นที่ที่มีความเป็นพลวัตอย่างต่อเนื่องจากสังคมชนบท สู่พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐพิเศษตากและประชาคมอาเซียน ซึ่งมีการหลั่งไหลของนักลงทุนต่างพื้นที่ และต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นงานที่จะเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นพลวัตย่อมต้องเป็นวิชาชีพที่มีความเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ที่มีพลวัตเช่นกัน ซึ่งกล่าวถึงงานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (Social Work) โดยอ้างจาก ศรีทับทิม พานิชพันธ์ ซึ่งกล่าวว่างานสังคมสงเคราะห์นั้นมีวิธีการที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริการทางสังคมประเภทต่างๆโดยตรงให้แก่บุคคล กลุ่มและชุมชน ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อนและอื่นๆโดยช่วยให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสมาชิกในครอบครัว กลุ่ม และชุมชน ตลอดจนสังคม ได้อย่างมีคุณภาพที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัยและมีเสถียรภาพที่ดี ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับการให้การปรึกษาถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในการให้บริการแก่บุคคล กลุ่มเป้าหมายต่างๆ นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพหนึ่งที่สามารถนำความรู้ด้านการให้การปรึกษามาใช้ในกระบวนการช่วยเหลือผู้รับบริการประเภทต่างๆ เช่นผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยด้วยโรคเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนพิการทุพพลภาพ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการบริการปรึกษา โดยความรู้และการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแนวคิด ทฤษฎี หลักการ ตลอดจนกระบวนการปฏิบัติงานในการให้การปรึกษาที่จะสามารถบำบัดหรือให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีกระบวน (รศ. นงลักษณ์ เอมประดิษฐ์ )
งานสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครแม่สอด ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 จึงได้จัดทำโครงการห้องปันฝันปันสุข (Counseling Room) เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าใจตนเอง สำรวจปัญหา ให้เกิดการตระหนักและมีแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหา มีทักษะในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมไปการนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของตนเองในทางที่เหมาะสม ด้วยศักยภาพของตนเองได้
โดยมีวัตถุประสงค์
1. ให้บุคคลเกิดการตระหนักและมีแรงจูงใจสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาของตนเองได้
2. ให้บุคคลมีทักษะในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างเหมาะสม
3. บุคคลสามารถปรับพฤติกรรมของตนเองในทิศทางที่เหมาะสมด้วยศักยภาพของตนเองได้
4. มีทางเลือกในการปรึกษาเพื่อระบายความคับข้องใจได้
5. ดำเนินการตามหลักการสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยรักษาเกียรติของผู้ได้รับบริการในกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ภายใต้การรักษาความลับ
ซึ่งให้บริการ แก้บุคคล กลุ่ม ในพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด และพนักงานเทศบาลนครแม่สอด
วิธีการดำเนินงาน
การดำเนินงาน
1. การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย (Objective) การให้คำปรึกษาจำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา เพื่อให้ทราบว่าให้คำปรึกษาเพื่ออะไร ต้องการให้ผู้ขอคำปรึกษาบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอะไร เช่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่ไม่ดีให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม หรือช่วยให้ผู้ขอคำปรึกษาสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำแนวทางของการตัดสินใจไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม อาทิ การพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ การปรับปรุงงานการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ๆ เป็นต้น
2.การรวบรวมข้อมูล (Data Collecting) ในขั้นตอนที่สองหลังจากกำหนดวัตถุประสงค์ในการให้คำปรึกษาแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอคำปรึกษาเพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้น ทราบพื้นฐานของครอบครัว ความรู้ความสามารถ ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ต่าง ๆ โดยใช้วิธีการทางจิตวิทยา เช่น การสังเกต การศึกษา ประวัติ การทดสอบหรือไม่ทดสอบ การสัมภาษณ์ เป็นต้น
3. การวิเคราะห์ปัญหา/สาเหตุ (Cause Analysis) ภายหลังจากรวบรวมข้อมูลแล้วผู้ให้คำปรึกษาจะนำข้อมูลเบื้องต้นมาวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยปัญหาการค้นหาสาเหตุของปัญหา การคาดคะเนพฤติกรรมเพื่อให้ทราบที่มาของปัญหาของผู้ขอคำปรึกษาเช่น ผู้ขอคำปรึกษามีความกังวลใจ ความขัดแย้งในใจ ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติงานใดก่อนหลัง ทำให้ไม่สามารถทำงานสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย จากการวิเคราะห์ปัญหา โดยข้อมูลของผู้ขอคำปรึกษาทำให้ทราบว่าผู้ขอคำปรึกษาขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ ทำให้เกิดความลังเลใจ ตัดสินใจไม่ถูก เป็นต้น
4. การให้คำปรึกษา (Counseling) ขั้นตอนนี้เป็นการพบกันระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้ขอรับคำปรึกษา เพื่อร่วมมือกันค้นหาวิธีแก้ปัญหาหรือเลือกตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม โดยผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีกระบวนการต่าง ๆ
- สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ขอคำปรึกษาทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือผู้ให้คำปรึกษาต้องให้เกียรติผู้ขอรับคำปรึกษา แสดงความเป็นมิตร เพื่อให้ผู้ขอคำปรึกษามีความรู้สึกอบอุ่นใจ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความลับได้ เมื่อเกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจกันแล้ว การให้คำปรึกษาก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของผู้ขอคำปรึกษา ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจะเลือกใช้วิธีการให้คำปรึกษาแบบใดมาใช้ เช่น การให้คำปรึกษาแบบนำทาง ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ ไม่เข้าใจตนเอง สำหรับการให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง เหมาะกับผู้ขอรับคำปรึกษา ที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันซึ่งเรียกว่า การให้คำปรึกษาแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
- การสำรวจปัญหาและค้นหาสาเหตุความต้องการ คือการสำรวจภูมิหลังความเป็นมา(เท่าที่จำเป็น) ดูองค์ประกอบของปัญหา ได้แก่
1.รูปแบบของปัญหา ระดับความรุนแรง การประเมินความรู้สึกและความคิด รวมถึงผลกระทบต่อผู้ขอรับคำปรึกษา
2.พฤติกรรมของผู้ขอรับคำปรึกษา
3.สัมพันธภาพของผู้ขอรับคำปรึกษาต่อคนอื่น
4.ศักยภาพของผู้ขอรับคำปรึกษา ต่อวิธีการแก้ปัญหาปัจจุบัน อดีตและผู้ให้การช่วย
5.การทำความเข้าใจปัญหา ด้วยการทบทวนและสรุปข้อมูล จัดเรียงลำดับและเชื่อมโยง การพิจารณาและเลือกปัญหา
- การวางแผนแก้ไขปัญหา
1. องค์ประกอบพื้นฐาน ประกอบด้วย แรงจูงใจ ศักยภาพ การสนับสนุนทางสังคม
2. ประเภทของปัญหา เช่น ขาดความรู้ อารมณ์ความรู้สึก ขาดแนวทางหรือขาดทักษะปฏิบัติ
3. วิธีการวางแผนแก้ไขปัญหา การค้นหาแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหา การกำหนดเป้าหมาย การสำรวจทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหา
- การยุติบริการ เป็นการให้การปรึกษาในแต่ละครั้งและการยุติการให้คำปรึกษาในแต่ละราย โดยการประเมินสถานการณ์ การสรุปความ การนัดหมายครั้งต่อไป การส่งต่อ เป็นต้น
5. การประเมินผล (Evaluation) เมื่อการให้คำปรึกษาสิ้นสุดลง ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องตรวจสอบผลของการให้คำปรึกษารวมทั้งการให้ความช่วยเหลือว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงใด ถ้าหากมีข้อบกพร่องนี้จะนำไปเพื่อปรัปปรุงแก้ไขวิธีการให้คำปรึกษาให้ดีขึ้นไปอีก แต่ถ้าการให้คำปรึกษาบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็สามารถนำเป็นแบบอย่างไปใช้กับผู้ขอรับคำปรึกษาที่มีปัญหาหรือกรณีใกล้เคียงกันได้ การประเมินผลอาจประเมินผลการให้คำปรึกษาหรือผู้ให้คำปรึกษาก็ได้ หรืออาจจะประเมินผลทั้งสองกรณีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการประเมินผล
สถานที่ดำเนินการ
ห้องปันฝันปันสุข (Counseling Room) งานสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครแม่สอด
ผู้ให้บริการ นักสังคมสงเคราะห์ประกอบวิชาชีพแล้ว
ผู้จัดทำข้อมูล : นางสาวศศิพร เลิศรัตนพันธุ์ ตำแหน่ง นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ