โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
เพื่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เมืองและนำไปสู่การผลักดันและขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ
เนื่องด้วยสถาบันพระปกเกล้าและเทศบาลนครแม่สอด ดำเนินการความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการเพื่อพัฒนากลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการและมีประสิทธิผล (The new integrated-effective area-based management) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการและมีประสิทธิผลในฐานะกลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่รูปแบบใหม่ของการบริหารงานภาครัฐไทย 2) นำร่องทดลองใช้กลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการและมีประสิทธิผล และ 3) ร่างหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการและมีประสิทธิผลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น
ภายใต้การดำเนินการดังกล่าว ได้มีการสำรวจแนวโน้ม ทิศทาง นโยบายในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งที่เป็นโครงการความร่วมมือ/กรอบความตกลงในระดับประเทศ อันได้แก่ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) ปฏิญญาพุกาม (BAGAN Declaration) หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี- เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya – Mekong Economic Corporation Strategy: ACMECS) ข้อตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO: World Trade Organization) เป็นต้น กรอบนโยบายส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ข้อกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556 และนโยบายส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบกับการนำแนวคิด/แนวทางการจัดระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการสร้างศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ที่ปรากฎในต่างประเทศ มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์หลัก
จากนั้น คณะนักวิจัยได้ดำเนินการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยให้ความสำคัญกับภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาสังคม และส่วนราชการในพื้นที่ ดังที่ปรากฎตารางต่อไปนี้
กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด |
|
ภาคเอกชน/ประชาสังคม |
ส่วนราชการ |
1. หอการค้าจังหวัดตาก |
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ |
2. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก |
2. หน่วยงานด้านแรงงาน |
3. ผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ |
3. ศุลกากรแม่สอด |
4. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยในพื้นที่ |
4. ตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด |
5. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว |
5. หน่วยงานด้านความมั่นคง |
6. ผู้ประกอบการด้านการส่งออก นำเข้า |
6. หน่วยงานปกครอง/นายอำเภอ |
7. ผู้ประกอบการด้านค้าปลีก |
7. หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ |
8. ผู้ประกอบการด้านการค้าวัสดุก่อสร้าง |
8. โรงพยาบาลแม่สอด |
ทั้งนี้ ในการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น คณะนักวิจัยได้ดำเนินการจัดประชุมหารือรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า สิ่งที่ขาดหายไปในกระบวนการผลักดันให้พื้นที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดได้นั้น ก็คือ “หน่วยงานที่จะเป็นหน่วยเชื่อมต่อระหว่างแนวนโยบายจากส่วนกลาง และสามารถรายงานสภาวะ สภาพปัญหา รวมถึงตัดสินใจเบ็ดเสร็จในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที” และการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ไม่มีการศึกษาถึงศักยภาพในการพัฒนาเมือง และทิศทาง/เป้าหมายปลายทางที่ควรจะเป็นของพื้นที่ที่ชัดเจน ทั้งที่ในพื้นที่มีกลไกการดำเนินงาน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ และภาคเอกชน จำนวน 68 คน โดยแบ่งเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย
(1) คณะทำงานด้านสิทธิประโยชน์ การตลาด และการประชาสัมพันธ์
(2) คณะทำงานด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง
(3) คณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร
(4) คณะทำงานด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ
(5) คณะทำงานด้านการพัฒนากำลังคน และส่งเสริมคุณภาพชีวิต
มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนแยกตามคณะทำงานแต่ละด้าน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก 2 ท่าน ทั้งด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าคณะทำงาน แต่กระนั้น การพัฒนาพื้นที่ก็ยังคงประสบปัญหา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ประเด็นปัญหา |
การบริหารในพื้นที่ |
- ขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ |
การวางแผนและการบริหารจัดการพื้นที่ |
- ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก |
ระเบียบ/กฎหมาย |
- กระบวนการต่าง ๆ ภายใต้กฎระเบียบของทางราชการมีความซับซ้อนยุ่งยากเช่นเดิม |
การเกษตร |
- มีตลาดรองรับน้อย |
การจัดการแรงงาน |
- เมื่อแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และทำบัตรแล้ว มักจะออกนอกพื้นที่ เคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน กลายเป็นแรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ประกอบการและนักลงทุน และทำให้ขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ |
สิทธิประโยชน์ |
- เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ยังไม่สะท้อนถึงความพิเศษในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากขาดความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์ |
การมีส่วนร่วม |
- ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งก่อนและหลังการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก |
ทำให้ในเบื้องต้นต้องมีการดำเนินการผลักดันให้เกิดหน่วยดังกล่าวขึ้น ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด” เพื่อให้มีบทบาทในการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวได้ต่อไป
1.) การตั้งคณะทำงานมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความเห็นต่อศักยภาพ ทิศทาง เป้าหมาย รวมไปถึงองค์ประกอบที่ต้องดำเนินการผลักดันให้พื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หน่วยที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนหลักในช่วงแรกจึงควรเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ ซึ่งได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า
การทำงานของคณะทำงานฯ ควรนำเอาทุกภาคส่วนมาทำงานและให้ความเห็น ได้แก่ 1) ฝ่ายเทศบาลนครแม่สอด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 2) ฝ่ายวิชาการ ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า 3) ฝ่ายภาครัฐในพื้นที่ 4) ฝ่ายนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ 5) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
การกำหนดองค์ประกอบของคณะทำงาน ประกอบด้วย
นำเสนอและพิจารณารายชื่อ "คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง" จากทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม
จัดประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง เพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ลงคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง” ที่ได้รับการพิจารณาสรรหาและคัดเลือก และให้ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ของจังหวัด
2) การดำเนินงานศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้แก่
(2.1) สร้างพื้นที่สนทนาใหม่ ๆ เพื่อสรุปความเห็น แนวโน้ม ทิศทาง เป้าหมายของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
(2.2) แนวทางการรวบรวม/พัฒนาระบบฐานข้อมูล และชุดข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
(2.3) แนวทางศึกษา วิจัย และพัฒนาข้อเสนอการพัฒนาเมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่
(2.4) แนวทางการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)
(2.5) ผลักดันแนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเข้ามาของนโยบายจากส่วนกลาง นักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ
3) การนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษา และทางเลือกต่างๆ สอบถามความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน เพื่อสร้าง “ฉันทามติร่วมกัน” และจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อย ได้แก่
1) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะได้ผ่านกลไกเดิม หรือสร้างกลไกใหม่เพิ่มเติม คือ กลไกเดิม เช่น เวทีประขาคมท้องถิ่น เวทีประชาคมของส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และกลไกใหม่ เช่น การสร้างเวทีประชาคมเพื่อการพัฒนาเมืองขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ การนำเสนอโดยหน่วยงาน/องค์กรที่มีประสบการณ์ในการผลักดันพื้นที่ เช่น KKTT
2) ศูนย์ฯ นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมในขั้นตอนย่อยที่ 1) มาพัฒนาตามความเหมาะสม และนำมาจัดทำ “ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด”
3) นำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ข้อมูล และข้อคิดเห็นต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ตามลำดับ
DRIVE MAESOT Related article