"ขยะติดเชื้อโควิด" ตามบ้าน การจัดการที่ต้องรู้ ก่อนซ้ำเติมวิกฤติ
การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เดือนเมษายน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 36,290 ราย ในส่วนกรุงเทพมหานครและนนทบุรี จำนวนผู้ป่วย 18,992 ราย (ข้อมูลวันที่ 30 เมษายน 2564) รัฐบาลตัดสินใจปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ป้องกันโควิด ประกาศ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมกรุงเทพมหานคร อีก 45 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และ 26 จังหวัด พื้นที่ควบคุม พร้อมใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วทุกจังหวัด งดการเดินทาง และขอความร่วมมือทำงานที่บ้านขั้นสูงสุด 14 วัน
สถานการณ์แพร่ระบาดรอบใหม่ ไม่เพียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาในแต่ละวันคือ ขยะติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ทุกพื้นที่ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อออกนอกเคหสถาน อยู่ในที่สาธารณะ ส่วน กทม. ถ้าอยู่ในรถ 2 คนขึ้นไปต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาทุกคน ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท
แม้แต่ในบ้านรัฐก็มีคำแนะนำให้สวม เพราะไม่มีใครทราบว่าตัวเองติดเชื้อ หรือติดเชื้อไม่แสดงอาการ ให้สวมเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว เด็กและผู้สูงอายุ ทำให้การใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อรับมือโควิด
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในช่วงที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ ระหว่างวันที่ 1-27 เมษายน 2564 ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด เฉลี่ย 15 ตันต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงที่ระบาดตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.-12 เม.ย.64 เฉลี่ย 12 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ตันต่อวัน เป็นขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถุงมือ กระดาษชำระ กล่อง บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ขวด แม้กระทั่งชุด PPE อุปกรณ์การแพทย์
สำหรับขยะติดเชื้อนั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ กทม.จะจัดเก็บนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิดที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขนและกำจัดจากหลายแหล่ง ประกอบด้วยสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลสนามในสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนามจากหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ กทม. หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) รวมถึงมูลฝอยติดเชื้อจากสถานที่สำหรับผู้กักตัวเพราะโควิด เช่น บ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียม และเนื่องจากตอนนี้มีการแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง จะมีการเปิดหอผู้ป่วยเฉพาะกิจแห่งใหม่ รองรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ กทม. ซึ่งจะมีปริมาณขยะติดเชื้ออีกมาก
“เฉพาะปริมาณขยะติดเชื้อโควิดจาก 4 โรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางบอน) รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) และมูลฝอยติดเชื้อ Hospitel ในกรุงเทพฯ ข้อมูลวันที่ 29 เมษายน เก็บขนกำจัดได้ 28 ตัน ซึ่ง กทม.กำจัดด้วยวิธีการเผาได้ 70 ตันต่อวัน ก็ยังประเมินว่า ตัวเลขคนติดเชื้อใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะเกิดขยะมากขึ้น โดยเฉพาะขยะหน้ากากอนามัย เพราะผิดกฎหมายถ้าไม่สวมแมสก์ออกจากบ้าน ทั้งนี้ ได้พิจารณาเตรียมแผนจัดจ้างเก็บขนขยะติดเชื้อโควิดเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมและแยกไปกำจัดด้วยวิธีเผาไหม้ที่เตา 500 ตัน ที่หนองแขม ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องมลพิษ เพราะเทคโนโลยีได้มาตรฐานปลอดภัย ช่วยลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายวิรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิดรอบใหม่ ผู้ติดเชื้อมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน เกิดปัญหาเตียงไม่พอ คนไข้โควิดรอเตียงอยู่ที่บ้านพัก เกิดขยะติดเชื้อภายในชุมชนกระจัดกระจาย อาจทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมยอมรับกังวลขยะติดเชื้อตามบ้าน
นายวิรัตน์บอกว่า ผู้ป่วยโควิดตกค้างที่บ้าน รอเตียงก่อนเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล กิจกรรมแต่ละวันก่อขยะ ทำให้บ้านกลายเป็นแหล่งผลิตขยะติดเชื้อ พบปัญหาผู้ป่วยโควิดทิ้งขยะติดเชื้อใส่ถุงกองไว้หน้าบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ ถ้ากลุ่มซาเล้งเปิดถุงคัดแยกขยะ สัมผัสกับเชื้อโรค กลายเป็นผู้แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว รวมถึงสุนัขหรือแมวคุ้ยเขี่ยจนถุงขยะขาด อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้างได้ ขยะติดเชื้อโควิดยังสร้างความกังวลใจให้คนในชุมชนที่อาศัยโดยรอบ
ที่ผ่านมา ส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำให้วางขยะติดเชื้อโควิดไว้ในบริเวณบ้าน แจ้งสำนักงานเขต เพื่อประสานบริษัท กรุงเทพธนาคม เข้าจัดเก็บอย่างถูกหลัก นำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยจะสวมชุดป้องกันติดเชื้อเพื่อความปลอดภัย ความถี่การเข้าจัดเก็บตามบ้านผู้ป่วย 50 สนง.เขตจะพิจารณาจากปริมาณขยะและสมาชิกในบ้านของผู้ป่วยโควิด
นอกจากนี้ ผอ.ระบุยังมีขยะมูลฝอยจากผู้ที่มีความเสี่ยงติดโควิดหรืออยู่ระหว่างกักตัว ซึ่งก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาดกับคนรอบข้าง ซึ่งก็ต้องแยกขยะ เช่น ถุงมือ ทิชชู่ หน้ากากอนามัย และทำเครื่องหมายติดชัดเจนไว้ว่า “ขยะติดเชื้อ”
“ ผลจากการที่รณรงค์และทำความเข้าใจ เวลานี้ประชาชนตื่นตัวทิ้งขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธีมากขึ้น ไม่ทิ้งปนกับขยะทั่วไปในบ้านเรือน แต่จะปลอดภัยและสะดวกต่อการเก็บรวมรวมไปกำจัดมากขึ้น ถ้าทิ้งหน้ากากด้วยการพับหรือม้วน ใช้สายรัดพันไว้รอบหน้ากาก ใส่ถุงแยกกับขยะอื่นๆ รัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะในจุดที่กำหนด เป็นถังสีส้ม ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19" นายวิรัตน์ บอก
ปัจจุบัน กทม.ได้ตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ 1,000 จุด ประกอบด้วย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. รพ.สังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และเคหะชุมชนต่างๆ ประชาชนสามารถนำขยะหน้ากากไปทิ้งได้ แต่ละเขตตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจจัดเก็บหน้ากากอนามัยใช้แล้ว รวมทั้งให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์การทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงแพร่ระบาด
ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์การควบคุมขยะติดเชื้อใน กทม. ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกสุขอนามัย เพื่อไม่ให้ขยะติดเชื้อโควิดเป็นตัวการแพร่กระจายเชื้อ เวลานี้คนกรุงไม่ได้เผชิญแค่ขยะติดเชื้อ ยังมีภัยจากขยะพลาสติกผลพวงธุรกิจบริการอาหารเดลิเวอรีที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งไม่มีทีท่าจะลดน้อยลงเลย ก็ฝากให้ทุกคนช่วยกัน นอกจากหยุดเชื้อแล้ว ต้องช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย.
content Related article